วันผู้สูงอายุ

นอกจากเป็นวันสงกรานต์ 13 เมษายนยังเป็นวันผู้สูงอายุด้วย มีความเป็นมาอย่างไร

เหลือง-แดง

ตอบ เหลือง-แดง

รัฐบาลมีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ประกาศให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ”

สืบเนื่องจากในปี 2525 (ค.ศ. 1982) นั้น องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย และได้ให้ความหมายของคำว่า “ผู้สูงอายุ” ไว้ดังนี้

ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และ ด้านการศึกษา

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้กำหนดให้ปี 2525 เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยกำหนดคำขวัญว่า Add Life to Years เพื่อให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลกของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้คำขวัญเป็นภาษาไทย ว่า “ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน”

และรัฐบาล (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวัน ผู้สูงอายุ

โดยได้กำหนดให้ “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากต้นลำดวน หรือหอมหวน (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อพื้นเมือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sphaerocoryne clavipes. จัดอยู่ในวงศ์ Annonaceae. เป็นพืชยืนต้นให้ความร่มเย็นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ลำต้นของลำดวนมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรมคุณงามความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป

ในส่วนของนานาชาติ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันผู้สูงอายุสากล” หรือ “International Day of Older Persons” เริ่มจัดกิจกรรมขึ้นในปี 1999 หรือ พ.ศ. 2542 เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ให้คนทั่วไปตระหนักถึงการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุที่ผ่านมาว่าได้เคยสร้างคุณประโยชน์ สร้างคุณงามความดีไว้ให้กับสังคมและประเทศชาติอย่างมากมาย รวมทั้งสรรค์สร้างวัฒนธรรมและสิ่งที่มีคุณค่าในด้านต่างๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย การดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรมเริ่มขึ้นในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายที่สำคัญประการหนึ่งในอันที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข จึงได้มอบให้กรมประชา สงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้น เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เดือดร้อน มีความทุกข์ยากประสบปัญหาและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง กรมประชาสงเคราะห์จึงได้จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2496

และต่อมารัฐบาลสมัยต่างๆ ก็มีนโยบายทั้งด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา สังคมวัฒนธรรม ความมั่นคงทางรายได้ การทำงาน และสวัสดิการของผู้สูงอายุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน