รัฐธรรมนูญ : บัญญัติศัพท์

น้าชาติ ไทยเริ่มใช้คำว่า รัฐธรรมนูญ เมื่อไหร่ 2475 หรือเปล่า

ครูกบ

ตอบ ครูกบ

คำตอบนำมาจากบทความ “รัฐธรรมนูญในฝัน : หลักการและเจตจำนงของคณะราษฎร พ.ศ. 2475” โดย รวินทร์ คำโพธิ์ทอง เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.silpa-mag.com สรุปความดังนี้

แนวคิดรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ช่วงแรกหลังเปลี่ยน แปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญ คือสิ่งสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน) เริ่มตั้งแต่การบัญญัติศัพท์ เวลานั้นยังไม่มีการบัญญัติคำว่า รัฐธรรมนูญ ขึ้น ทำให้กฎหมายที่จัดระเบียบรัฐและมอบอำนาจแก่ประชาชนฉบับแรกใช้ชื่อว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475

รัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้อาจถือได้ว่า เป็น “รัฐธรรมนูญในฝัน” ของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎร ที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้น เมื่อพิจารณาถึงฉากหลังทางประวัติศาสตร์จากพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก “พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยมาตราต่อไปนี้” แสดงให้เห็นว่า จุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญในสยามมีลักษณะดุลอำนาจระหว่างชนชั้นนำและคณะราษฎร

จะเห็นได้ว่า ในตัวบทได้ให้อำนาจทางการปกครองประเทศเป็นของราษฎร โดยปรากฏในหมวดที่ 1 ข้อความทั่วไป มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย และ มาตรา 2 ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ 1.กษัตริย์ 2.สภาผู้แทนราษฎร 3.คณะกรรมการราษฎร 4.ศาล

อย่างไรก็ตาม คำว่า รัฐธรรมนูญ ได้มีการบัญญัติศัพท์นี้ขึ้นในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดย หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ซึ่งเป็นผู้บัญญัติศัพท์ ทรงอธิบายความหมายว่า

“…ตามศัพท์แปลว่าระเบียบอำนาจหน้าที่ในการปกครองแผ่นดิน “ธรรมนูญ” แปลว่า ระเบียบอำนาจหน้าที่ และ “รัฐ” แปลว่า การปกครองแผ่นดิน เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากวลีที่ว่า “พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” เพื่อให้กะทัดรัดขึ้นและเพื่อให้เป็นศัพท์ขลังตามสมควรแก่สภาที่ศักดิ์สิทธิ์ คำว่า “รัฐธรรมนูญ” นี้ เป็นคำแปลมาจากภาษาฝรั่งว่า “Constitution”เพราะวิธีปกครองแบบนี้เป็น วิธีดัดแปลงมาจากฝรั่ง…”

เมื่อพิจารณาจากการบัญญัติศัพท์ของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร และทั้งพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่ 2 ที่เสนอว่า “…จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามประสิทธิประสาท ประกาศพระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ ให้ดำรงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป…” สะท้อนว่า การกำเนิดขึ้นของ รัฐธรรมูญสยามฉบับแรกและฉบับที่ 2 นี้ มีแนวคิดมาจาก คณะบุคคลและชนชั้นนำที่ประนีประนอมเพื่อระบอบการปกครองใหม่ หากในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยรัฐบาลของคณะราษฎร มีความมุ่งมาดปรารถนาให้รัฐธรรมนูญของสยามนั้นมีความ “ถาวร”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน