จิตร ภูมิศักดิ์ กับเผด็จการ (ตอนแรก)

กรณีหนังสือสำหรับเด็ก ทำให้สนใจงานของจิตร ภูมิศักดิ์ เขาทำอะไรที่รัฐบาลเผด็จการต้องกลัว

ณพล

ตอบ ณพล

คำตอบนำมาจากบทความ “ชีวิตในห้วงเผด็จการของ จิตร ภูมิศักดิ์ กับผลงาน และอิทธิพลทางความคิดสู่นักศึกษา” ซึ่งเรียบเรียงจากเรื่อง “ชีวิตและงาน จิตร ภูมิศักดิ์” โดยธนาพล อิ๋วสกุล และคณะ

ความฝันของคนชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ก่อนที่จะมาเป็นนักคิดคนสำคัญที่มีผลงานส่งผลต่อความคิดของคนรุ่นหลัง ในวัยเด็กเขาหลงใหลเรื่องราวเกี่ยวกับปราสาทเขมร วรรณคดีไทยโบราณ และฝันว่าสักวันหนึ่งจะเป็นเช่นนักปราชญ์ราชบัณฑิต เขาจึงเริ่มค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์ ขยายไปสู่วิชาอื่นๆ อีกมากมาย แต่บริบทหลายอย่างในสังคมไทยทำให้ชีวิตเขาไม่อาจเป็นไปตามฝันในวัยเด็ก

จิตรก็เช่นเดียวกับหลายคนที่เกิดและเติบโตในทศวรรษ 2470-2480 ที่ได้รับอิทธิพลความคิดชาตินิยม ทั้งที่มาจากการปลูกฝังของรัฐชาติในสมัยนั้น ประกอบกับความประทับใจขบวนการกู้ชาติในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ที่ได้อาศัยอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นเครื่องมือสำคัญในการโค่นล้มลัทธิล่าอาณานิคม

เมื่อจิตรต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่จังหวัดพระตะบอง ระหว่างปี 2488-2489 จิตรได้บันทึกถึงความประทับใจทางการเมืองครั้งแรกของตนว่า “ที่นั่นได้สัมพันธ์กับเพื่อนชาวเขมรจำนวนมาก เพื่อนเหล่านี้มีความรักชาติเขมรของเขาอย่างแรงกล้า แม้ทางการไทยจะสอนให้เขารักชาติไทย ฯลฯ แต่เขาก็คงยืนหยัดความเป็น “กัมปูเจีย” (กัมพูชา) ของเขาเสมอ และมีการจัดตั้งหน่วยเขมรอิสระกันอย่างกว้างขวางและเปิดเผย…ประชาชนเขมรเคลื่อนไหว “เอ็ยสะระ” (อิสระ) อย่างเต็มที่”

จากพระตะบอง จิตรต้องมาเรียนที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร และที่นี่เองที่ได้ปลุกความคิดชาตินิยมของจิตรออกมาอีกครั้ง เพราะสถานการณ์ภายในประเทศเกิดความไม่สงบขึ้นจากกรณี “รุมเลี้ยะพ่ะ” ที่เกิดจากชาวจีนสยามส่วนหนึ่งที่ถูกรัฐไทยรังแกมาตลอด ได้เริ่มเรียกร้องสิทธิของตนจนเกิดเป็นการก่อความไม่สงบขึ้น และเมื่อจิตรได้อ่านบทความของครูจักรกฤษณ์ (สุภางค์) ชื่อ “เมื่อข้าพเจ้าเป็นซินแสโรงเรียนจีน” ได้กระตุ้นให้จิตรคิดไปว่าจีนมีนโยบายที่จะกลืนชาติไทย จิตรจึงหาทางตอบโต้ด้วยการชักชวนเพื่อนไม่ให้ซื้อสินค้าจีน

แต่นั่นเป็นความคิดเมื่ออยู่ในวัยเยาว์ จิตรได้สะท้อนผ่านปัญหาคนจีนในเมืองไทยในงานเขียนชิ้นสำคัญ คือ “โฉมหน้าของศักดินาไทย” ว่า เขาจะไม่โจมตีคนจีนหรือคนชาติอื่นๆ ที่เป็นประชาชนสามัญ จะโจมตีก็เฉพาะแต่ศัตรูของประชาชนเท่านั้น จิตรเขียนไว้ว่า “พวกศักดินามอมเมาให้คนไทยเกลียด “เจ๊ก” มาแต่โบรมโบราณเต็มที พวกกวีก็พลอยเกลียดชังจีน ไปด้วย”

ในช่วงที่จิตรกำลังศึกษาแสวงหาความรู้ทางวิชาการในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น อยู่ในช่วงทศวรรษ 2490 บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยระบบ SOTUS อย่างเข้มข้น โดยมีหนังสือเล่มสำคัญที่ช่วยถ่ายทอดความคิดคือ มหาวิทยาลัย 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นหนังสือที่ต้องทำทุกปี

ฉบับพรุ่งนี้ (6 ต.ค.) อ่านต่อเรื่องราว จิตร ภูมิศักดิ์ ที่แม้เป็นหนังสือสำหรับเด็ก บางคนยังหวาดหวั่นขวัญผวา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน