เวิลด์ เอ็กซ์โป : ประสบการณ์สยาม

เอ็กซ์โปโลกจัดครั้งแรกค.ศ.อะไร ไทยไปร่วมครั้งแรกเมื่อไหร่ขายหรือโชว์อะไร

ร้อยเอ็ด

ตอบ ร้อยเอ็ด

เวิลด์ เอ็กซ์โป (World Expo) หรือ งานนิทรรศการโลก (World Fair) หรือบ้างเรียก มหกรรมนานาชาติ (International Expo sition) เป็นงานยิ่งใหญ่จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ดำเนินการโดยองค์การนิทรรศการนานาชาติ (Bureau of International Exposition-BIE) จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1851 (พ.ศ. 2394) ที่กรุงลอนดอนสหราชอาณาจักร ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมแห่งปวงประชาชาติ-Industry of all Nations” การจัดงานครั้งแรกนั้น สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เสด็จเปิดงาน

สำหรับประเทศไทยกับเวิลด์ เอ็กซ์ไป ต้องย้อนไปยังปี ค.ศ. 1900 จากการค้นหาเอกสารเก่าที่หอสมุดแห่งชาติโดย เอนก นาวิกมูล ภายหลังจากเดินทางไปฝรั่งเศสและได้เห็นอัลบั้มการประมวลภาพสิ่งของที่ไทยส่งไปร่วม Paris EXPO 1900 (The Paris Exposition Universelle of 1900) หรือ งานนิทรรศการนานาชาติที่ปารีส พ.ศ. 2443

พบข้อมูลจาก “แจ้งความเรื่องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์กรุงปารีส ปีคริสต์ศักราช 1900 ส่วนของกรุงสยาม” สรุปว่า วันพุธที่ 12 มกราคม ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสที่ประชุมว่า เมื่อเสด็จยุโรป ประทับที่ปารีส รัฐบาลกรุงฝรั่งเศสกราบบังคมทูลร่วมแสดงงานพิพิธภัณฑ์ก็ทรงรับจะช่วย

หากเคยมีงานในลักษณะนี้มาแล้ว ซึ่งสยามส่งของไปช่วยและพระองค์ทรงออกพระราชทรัพย์ไปก่อน แต่ของที่ส่งไปขายไม่ได้ต้องขาดทุนมากมาย เมื่อเสด็จยุโรปครั้งนี้ (7 เมษายน-16 ธันวาคม พ.ศ. 2440) ได้ทอดพระเนตรการแสดงพิพิธภัณฑ์ที่สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ทรงทราบว่าการจัดของของสยามแต่ก่อนๆ มา เข้าใจงานไม่ถูก จึงได้ขาดทุน เพราะคิดว่าเป็นการจัดประกวดของและสินค้าเหมือนจัดมิวเซียม ต้องมีตัวอย่างของครบแทบทุกชนิดไปแสดง ของบางอย่างมีค่ามาก เช่น ขนนกกระเต็น ก็ไม่มีใครซื้อไปทำอะไร หรืออย่างแห, อวน เป็นของดีของสยาม ออกไปตั้งครั้งใดก็ได้รางวัลเหรียญทองคำ แต่ก็ไม่มีใครสั่งซื้อ

แท้จริงแล้ว หัวใจของงานพิพิธภัณฑ์คืองานประชุมการค้าขายใหญ่ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนบำรุงสินค้าพาณิชยการขึ้น พวกที่จัดของไปตั้งก็เลือกของที่เป็นวิชาช่าง หรือสินค้า หรือเครื่องจักรกล คิดใหม่ หรือของเก่าที่คาดว่าเป็นที่ต้องการของคนมาดูได้สั่งซื้อต่อไป เมื่อตรวจให้รางวัลแล้วก็เป็นเครื่องโอ้อวดได้ จะได้ขายได้ต่อไป ฉะนั้นต้องมีของล่อตาชักชวนให้ดู และของจะขายกับของที่จะส่งไปต้องเป็นของถูก เป็นของที่ระลึก

จึงควรจัดดังนี้ ให้มีโรงแสดงห้องหนึ่ง ประดับประดา อย่างไทย ประดับอาวุธตามผนัง ตั้งโต๊ะและชั้นวางของ มีที่ นั่งพักกลางห้อง มีของมีราคาจัดแสดงและจำหน่าย มีคนแต่งเป็นไทยดูแลและจำหน่ายของ, ลานหน้าโรงแสดงถึงแม่น้ำ จัดเป็นสวน มีน้ำพุ หรือบ้านเรือนไทย จัดแสดงโขนละครเล็ก และทำขนมสาธิตและจำหน่าย, ในแม่น้ำมีแพใหญ่อย่างไทยจอด ในแพมีคนแต่งอย่างไทยขายของ อาจมีขับร้องตีโทนหรือดีดจะเข้

นอกจากนี้ยังมีเอกสารบันทึกรายการสิ่งของจำหน่าย เช่น พระปรางค์วัดอรุณฯ สูง 24 นิ้ว อันละ 100 บาท 1 อัน ขาย 200 แฟรงส์, พระอุโบสถวัดพระแก้ว สูง 15 นิ้ว 54 บาทขาย 110 แฟรงส์, พลับพลาโรงโขน สูง 12 นิ้ว 14 บาท ขาย 28 แฟรงส์ ฯลฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน