น้ำท่วมแรกตั้งกรุงเทพฯ

แรกตั้งเมืองหลวง กรุงเทพฯ เคยมี น้ำท่วมไหม

ทิพย์

ตอบ ทิพย์

คำตอบนำมาจากบทความ “น้ำท่วมใหญ่ในไทยครั้งแรกที่พบในบันทึก ขุนนาง-พระบรมวงศานุวงศ์ต้องลอยเรือเข้าเฝ้า” เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.silpa-mag.com ดังนี้

เหตุการณ์น้ำท่วมเมืองไทยสมัยอดีตไม่ปรากฏในพงศาวดารแบบชัดเจน ส. พลายน้อย เล่าว่า มีปรากฏในจดหมายเหตุแบบประปรายหลายครั้งด้วยกัน นับตั้งแต่ครั้งแรกที่พบหลักฐานคือเมื่อ พ.ศ. 2328 ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ไปจนถึงปี พ.ศ. 2485

สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วม(ใหญ่)ครั้งแรกซึ่งมีปรากฏอยู่ในบันทึกนั้น เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2328 อันเป็นปีมะเส็ง หลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จ ไม่นานนัก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 บันทึกว่า

“ลุจุลศักราช 1147 ปีมะเส็ง สัปตศก การสร้างพระนครและพระมหาปราสาทราชนิเวศน์สำเร็จดังพระราชประสงค์ จึงทรงพระราชดำริว่า เมื่อปีขาลจัตวาศก ได้ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูลเต็มตามตำรา และบัดนี้ก็ได้ทรงสร้างพระนครและพระราช มนเทียรสถานขึ้นใหม่ ควรจะทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี จะได้เป็นพระเกียรติยศและเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง เป็นที่เจริญสุขแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎรทั่วไปในพระราชอาณาเขต จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ และเสนาพฤฒามาตย์กระวีชาติราชบัณฑิตยาจารย์ ชีพ่อพราหมณ์ปรึกษาพร้อมกันเห็นสมควรแล้ว จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดารไม่ได้บรรยายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมแบบชัดเจนนัก ส. พลายน้อย บรรยายว่า ในจดหมายเหตุที่ค้นพบ เล่าอุทกภัยครั้งนั้น (พ.ศ. 2328) ระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว นักวิชาการ-นักเขียนด้านประวัติศาสตร์สันนิษฐานสาเหตุที่น้ำลึกขนาดนั้นว่า อาจเป็นเพราะสนามหลวงในช่วงเวลานั้นยังเป็นที่ลุ่ม

ขณะที่สภาพของพระบรมมหาราชวังก็มีน้ำท่วมท้องพระโรง ระดับน้ำที่ท่วมพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานวัดได้ 4 ศอก 8 นิ้ว สภาพแบบนี้ย่อมทำให้เสด็จออกขุนนางไม่ได้ และย้ายไปว่าราชการบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทที่พื้นพระที่นั่งสูงกว่าระดับน้ำ

ส. พลายน้อย บรรยายในหนังสือ “เล่าเรื่องบางกอก” ว่า “การประชุมขุนนางครั้งนั้นลำบากไม่น้อย เพราะบรรดาข้าราชการแลพระบรมวงศานุวงศ์ต้องลอยเรือเข้าเฝ้า จอดเรือเทียบถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเลยทีเดียว”

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ยังบันทึกว่า เดือน 12 ปีนั้นเอง น้ำมากลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว และยังบรรยายว่า ภัยที่เกิดขึ้นเป็นผลให้ข้าวกล้าในท้องนาเสียหาย “บังเกิดทุพภิกขภัย ข้าวแพงถึงเกวียนละชั่ง ประชาราษฎรทั้งหลายได้ความขัดสนด้วยอาหารกันดารนัก จึงมีพระราชโองการให้กรมนาจำหน่ายข้าวเปลือกในฉางหลวงออกแจกจ่ายราษฎรเป็นอันมาก” ซึ่งเหตุการณ์ข้าวแพงนี้ดำเนินต่อไปจนถึงปีมะเมีย พ.ศ. 2329

น้ำท่วมใหญ่ครั้งต่อมาเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2362 ปีเถาะ น้ำท่วมพระนคร ระดับน้ำที่ท่วมสนามหลวง น้ำลึก 6 ศอก 8 นิ้ว และยังท่วมพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานจนเสด็จออกว่าราชการไม่ได้ และย้ายไปว่าราชการที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ส. พลายน้อย บรรยายว่า น้ำท่วมครั้งนี้ยังตามมาด้วยปัญหาข้าวแพงจนประชาชนอดอยากกันด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน