สกาลา จบบริบูรณ์

มีเหตุผลไหมครับว่าทำไมจึงคัดค้านการทุบทิ้งโรงหนังสกาลา ซึ่งก็ถูกทุบไปแล้วจริงๆ

มนตรา

ตอบ มนตรา

คำตอบนำมาจากอรรถาธิบายของ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่า การรื้อโรงภาพยนตร์สกาลาไม่ใช่เพียงการรื้อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สวยงามเท่านั้น แต่คือการรื้อทิ้งหลักฐานประวัติศาสตร์สังคมชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของไทยที่บอกเล่าประวัติศาสตร์สงครามเย็นผ่านธุรกิจโรงภาพยนตร์

ในทางสถาปัตยกรรม สกาลาคือโรงภาพยนตร์ standalone ที่ออกแบบอย่างสวยงามที่สุดในประเทศไทย ตัวอาคารออกแบบขึ้นด้วยแนวทาง “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ช่วงปลาย” (Late Modern Architecture) ที่ผสานเข้ากับการตกแต่งภายในแบบ Movie Palace ที่เน้นความอลังการหรูหรา ผสมศิลปะจาก หลากหลายยุคสมัยเพื่อสร้างความแปลกตาแฟนตาซี (Eclectic Exoticism) ซึ่งหาได้ยากมากในโรงภาพยนตร์ standalone ในไทย ที่สำคัญคือ เป็นตัวแบบที่เหลืออย่างสมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว

ในทางประวัติศาสตร์สังคม สกาลาถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2512 ภายใต้บรรยากาศ “สงครามเย็น” (สงครามทางอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีที่มีอเมริกาเป็นแกนนำ กับโลกคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียตและจีนเป็นแกนนำ) ซึ่งภายใต้การต่อสู้ทางอุดมการณ์ดังกล่าว ภาพยนตร์คือหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย

กล่าวให้ชัดคือ การเฟื่องฟูขึ้นของธุรกิจภาพยนตร์และการ สร้างโรงภาพยนตร์ standalone ทั่วประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แยกไม่ได้เลยจากเศรษฐกิจและการเมืองในบริบทสงครามเย็น

“การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในสังคมไทย ต้องยอมรับว่าแทบไม่มีใครสนใจ มีเพียงกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้นที่พยายามรณรงค์ในเรื่องนี้ แม้แต่กรมศิลปากรเองก็ยังมองว่างานสถาปัตยกรรมในยุคสมัยนี้ไม่มีคุณค่ามากพอต่อการขึ้นทะเบียน”

มีข้อมูลเพิ่มเติมถึงประวัติความเป็นมาของสกาลา ว่า โรงภาพยนตร์สกาลาเป็นโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ ถือเป็นกลุ่ม โรงภาพยนตร์ซึ่งเกือบทั้งหมดมีที่ตั้งอยู่ในย่านสยามสแควร์ ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย (นอกพื้นที่สยามแสควร์) โรงภาพยนตร์สยาม โรงภาพยนตร์ลิโด และโรงภาพยนตร์สกาลา

จดทะเบียนธุรกิจในนาม “สยามมหรสพ” มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2511 ขณะที่ข้อมูลจากบางสำนักระบุว่าบริษัทเอเพ็กซ์ภาพยนตร์ จำกัด เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ทั้งลิโดและสกาลา โดยบริษัทดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2523 มีทุน จดทะเบียน 140 ล้านบาท จากจุดตั้งต้น 1 ล้านบาท มีเจ้าของประกอบไปด้วย กัมพล ตันสัจจา, นันทา ตันสัจจา และ วิวัฒน์ ตันสัจจา ที่บริหารสวนนงนุช

ปัจจุบันโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ทั้ง 4 แห่งนั้น ได้ปิดตัวไปทั้งหมดแล้ว โดยโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ถูกทุบทิ้งในปี พ.ศ. 2532, โรงภาพยนตร์สยาม ถูกวางเพลิงจนเสียหายหมดทั้งอาคารจากการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2553 และแปลงสภาพเป็นสยามสแควร์วันในเวลาต่อมา, โรงภาพยนตร์ลิโด ปิดตัวเพราะหมดสัญญาเช่ากับจุฬาฯ ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

และโรงภาพยนตร์สกาลาที่เป็นโรงภาพยนตร์แห่งสุดท้ายได้ปิดตัวลงในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เนื่องจากการระบาดทั่วประเทศของโควิด-19 และต้นทุนที่สูงขึ้น แม้ว่าสัญญาเช่าพื้นที่จะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2564 ก่อนที่ บจ.เซ็นทรัลพัฒนา จะคว้าสิทธิ์ชนะการประมูลพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 30 ปี

ล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการรื้อถอนโรงภาพยนตร์ สกาลาจนเหลือแต่ซากอาคารแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน