ไวพจน์ เพชรสุพรรณ

ต้องนำมาให้อ่านแล้วครับน้าชาติ ประวัติครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ

ลันตา

ตอบ ลันตา

คำตอบนำมาจากบทความ “เส้นทาง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ สู่ราชาเพลงแหล่ และแต่งเพลงให้พุ่มพวง ดวงจันทร์” เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.silpa-mag.com ดังนี้

บรรดาศิลปินเพลงพื้นบ้านที่โดดเด่นของไทยยุคนี้ ย่อมต้องมีชื่อ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ อย่างแน่นอน ซึ่งกว่าจะมาเป็น “ราชาเพลงแหล่” ที่คนทั่วประเทศรู้จักคุ้นเคย ตำนานศิลปินท่านนี้ผ่านเส้นทางมามากมาย

ข้อมูลเกี่ยวกับนายไวพจน์ ในเอกสาร “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี” ระบุไว้ว่า เดิมมีชื่อ-นามสกุลว่า ไวพจน์ สกุลนี เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2485 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จบการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดวังน้ำเย็น บ้านเกิด

เมื่ออายุ 12 ปี ไวพจน์เริ่มฝึกและหัดร้องเพลงอีแซว อันเป็นเพลงพื้นบ้านในแถบสุพรรณบุรี จนสามารถร้องได้ในที่สุด กระทั่งอายุ 14 ปี ก็สามารถร้องเพลงแหล่ได้ และเริ่มหัดร้องลิเกกับคณะลิเกประทีป แสงกระจ่าง

ต่อมาในวัย 16 ไวพจน์เข้าประกวดงานร้องเพลงครั้งแรก และคว้ารางวัลอันดับ 1 มาได้ จากบทเพลง จันทโครพ ซึ่งเป็นเพลงแหล่ของ พร ภิรมณ์

ในช่วงเวลาหนึ่งเพลงลูกทุ่งเป็นที่นิยมและอยู่ในความสนใจของประชาชน มีนักร้องลูกทุ่งโด่งดังกันมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ชัยชนะ บุญณะโชติ คราวหนึ่งเขานำวงดนตรีไปเล่นที่ตลาดสวนแตง และจัดประกวดร้องเพลง ไวพจน์เข้าร่วมประกวดด้วย เมื่อร้องไปแล้วได้รับเสียงชื่นชม ชัยชนะ บุญณะโชติ จึงชักชวนให้เข้าวงการเพลงลูกทุ่งและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ”

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของไวพจน์ยังมี ครูสำเนียง ม่วงทอง นักแต่งเพลงชาวสุพรรณบุรี เป็นครูสอนร้องเพลงและทำเพลงที่ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมาก เพลงนั้นมีชื่อว่า “ให้พี่บวชเสียก่อน”

นอกจากการร้องเพลงลูกทุ่งได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ไวพจน์สามารถร้องเพลงพื้นบ้านได้เกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเพลงฉ่อย เพลงแซว เพลงเรือ และสามารถตอบโต้ปฏิภาณกวีได้ โดยเฉพาะเมื่อร้องเพลงแหล่ ซึ่งเวลาต่อมาก็ทำให้ไวพจน์มีผลงานแผ่นเสียงเพลงแหล่มากที่สุดในประเทศไทย ได้รับการยกย่องเป็น “ราชาเพลงแหล่”

ไวพจน์เป็นนักร้องลูกทุ่งอาวุโสที่มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดอีกคนหนึ่ง เอกสารดังกล่าวระบุตัวเลขโดยคร่าวๆ ไว้ว่าประมาณ 2,000 เพลง รวมทั้งเพลงที่แต่งเอง และครูเพลงแต่งให้

ไวพจน์ยังแต่งเพลงและสร้างชื่อเสียงให้ลูกศิษย์จำนวนมาก มีศิษย์เอกที่โด่งดังอย่าง ขวัญจิต ศรีประจันต์, เพชร โพธาราม และพุ่มพวง ดวงจันทร์ (เพลง แก้วรอพี่ และ นักร้องบ้านนอก) ทั้งยังมีบทบาทเป็น “หมอทำขวัญ” และได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปี พ.ศ. 2540

ราชาเพลงแหล่ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน