สมเด็จพระวันรัต (ตอนแรก)
สมเด็จพระวันรัตมีหลายท่านใช่ไหม สมณศักดิ์ วันรัต แปลว่าอะไรครับ
กุณฑล
ตอบ กุณฑล
คำตอบสรุปจากบทความ “สมเด็จพระวันรัต สมณศักดิ์สำคัญในวงการสงฆ์ มาจากไหน ใช้กันมาแต่เมื่อใด” เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.silpa- mag.com ดังนี้

เมื่อประเทศไทยรับพระพุทธศาสนามาจากลังกาแล้ว ก็ได้จัดการปกครองคณะสงฆ์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะแก่ยุคสมัยตลอดมา ในสมัยสุโขทัยมีกล่าวไว้ใน ศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคําแหงว่า “มีสังฆราช มีปู่ครู” จึงสันนิษฐานได้ว่าสังฆราชคงเป็นตําแหน่งสังฆนายกหรือประธานสงฆ์ชั้นสูงสุด ส่วนปู่ครูคือ ตําแหน่งสังฆนายกชั้นรองลงมา
ทั้งนี้ เนื่องจากไทยรับพระพุทธศาสนามาจากลังกา จึงรับประเพณี ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งราชทินนามพระราชทานเป็นสมณศักดิ์ของลังกามาด้วย

ในสมัยสุโขทัยยังได้แบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นคณะคามวาสี คือพระภิกษุสงฆ์ที่เล่าเรียนคันถธุระอยู่ตามอารามใน บ้านเมือง และคณะอรัญวาสี คือพระภิกษุสงฆ์ที่เล่าเรียนวิปัสสนาธุระอยู่ตามป่าเขาอันเป็นที่สงบสงัด ดังปรากฏหลักฐานจากโบราณสถานสมัยสุโขทัยที่มีวัดนอกเมืองในพื้นที่ที่เรียกว่าเขตอรัญญิก เป็นที่พํานักและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ของพระภิกษุอรัญวาสีดังกล่าว

สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงสรุปไว้ในตํานานคณะสงฆ์ ว่า “คําว่า ป่าแก้ว เป็นภาษาไทยแปลมา จากคํา วันรัตน ภาษามคธเป็นแน่ไม่มีที่สงสัย” เพราะปรากฏในเอกสาร พงศาวดารโยนก ว่า

“เมื่อราวปีขาล จุลศักราช 784 พ.ศ. 1965 รัชกาลของสมเด็จพระนครอินทรา ธิราช ทรงครองกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1952-1967) ตรงกับรัชกาลพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 6 ทรงครองลังกาทวีป (พ.ศ. 1955-2010) นั้น มีพระมหาเถระที่เป็นพหูสูต ผู้รู้ปริยัติจากเมืองเชียงใหม่ 7 รูป…ได้ชักชวนพระสงฆ์อื่นๆ อีก 18 รูป รวมเป็น 25 รูป พร้อมกับพระสงฆ์เขมรอีก 8 รูป มีพระมหาญาณสิทธิ เป็นต้น รวมเป็น 33 รูป กับทายกผู้มีศรัทธาได้จ้าง เรือโดยสารพากันไปยังเกาะลังกา ใน พ.ศ. 1967

พระเถระเหล่านั้น “ได้ไปอุปสมบทแปลงใหม่ ณ อุทกสีมาเรือขนานในแม่น้ำกัลยาณี ที่ท่าชื่อว่า ยาปาปัฏฏะนะ ในท่ามกลางคณะสงฆ์ 20 รูป มี พระธรรมาจริยาเถรเป็นพระอุปัชฌาย์ “พระวันรัตน” เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในวันเสาร์ เดือน 8 ทุติยาสาฒ ขึ้น 12 ค่ำ จุลศักราช 786 ปีมะโรง ฉศก”

การอุปสมบทครั้งนั้น หนังสือตํานานบางเรื่องกล่าวว่า “พระวันรัตน” เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระเถระชื่อ ราหุภัททะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระภิกษุไทยที่ไปบวชแปลงกับพระวันรัตนมหาสามิ ณ เกาะลังกา แล้วกลับมาเผยแผ่ลัทธิและระเบียบแบบแผนขึ้นในประเทศไทยนั้น คงจะมีปฏิปทาก่อให้เกิดความนิยมเลื่อมใสจากประชาชนและพระมหากษัตริย์ อีกทั้งคงจะมีกุลบุตรชาวไทยเข้าบวชเป็นศิษย์ของพระสงฆ์ฝ่ายนี้จํานวนมาก จนเกิดเป็นคณะสงฆ์หมู่ใหญ่ที่มีความสําคัญขึ้นอีกคณะหนึ่ง เรียกว่าคณะ “ป่าแก้ว”

แล้วนําเอาคําว่า “ป่าแก้ว” ไปต่อท้ายชื่อวัดที่พระคณะนั้นอยู่จําพรรษา เช่น วัดไตรภูมิป่าแก้ว แม้แต่วัดป่ามะม่วงที่ พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงสร้างถวายพระ มหาสามิสังฆราช ก็มีระบุในพงศาวดารโยนกว่า “ภายหลังเรียกว่า วัดป่าแก้ว” หมายความว่า “วัด (ของพระภิกษุสงฆ์คณะ) ป่าแก้ว” คือแปลชื่อ “วนรตน” มาเป็นคําไทยง่ายๆ ว่า “ป่าแก้ว”
ฉบับพรุ่งนี้ (22 มี.ค.) อ่านต่อถึงการครองสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน