คอลัมน์ สดจากสนามข่าว

ธานี ทวีเกิด เรื่อง/ภาพ

“ผู้ที่เป็นตำรวจจำเป็นต้องฝึกฝน อบรมตนให้แข็งแกร่งเสมอ ทั้งด้านกำลัง ความคิด และจิตใจ พร้อมกับมีอุดมคติ มีความมั่นคงในความคิดอย่างสูง จึงจะสามารถปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ได้”

ส่วนหนึ่งของพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานกระบี่แก่ว่าที่ร้อยตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุด ประจำปีการศึกษา 2516 ณ ห้องประชุมกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2517 ยังตราตรึงเต็มดวงจิตตำรวจไทยทั้งชั้นประทวนและสัญญาบัตร ตราบทุกวันนี้

เช่นเดียวกับศูนย์ฝึกอบรม กองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่เปิดโครงการให้ตำรวจหน้าใหม่ไล่จับคนร้ายคดียา เสพติดตามหมายจับในคดีค้างเก่า ตาม “โครงการครูต้น แบบ : เทคนิคการสืบจับตามหมายจับคดีค้างเก่า”

เปิดโอกาสให้ตำรวจชั้นประทวนระดับส.ต.ต.-ส.ต.ท. และตำรวจสัญญาบัตร ระดับ ร.ต.ต.-ร.ต.ท. เข้าอบรม รวม 77 นาย
4
ทั้งหมดจะได้เรียนรู้เทคนิคการสืบสวนและเทคโนโลยีการสืบสวนในยุคปัจจุบัน ที่นำเทคนิคพิเศษต่างๆ มาใช้ โดยมี พ.ต.อ. อุเทน นุ้ยพิน ผกก.ศฝร.บช.น. เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร

สำหรับหลักสูตรดังกล่าวจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายลงพื้นที่จริง ไล่ล่าตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีค้างเก่าด้วยเทคนิคพิเศษ สำหรับเป้าหมายจะเป็น ผู้ต้องหาในคดียาเสพติดกว่า 3,000 ราย ที่ยังคงหลบหนีอยู่ทั่วประเทศ

พ.ต.อ.อุเทนเปิดเผยว่า ตำรวจที่เข้ามาฝึกอบรมนั้นส่วนใหญ่จะเป็นตำรวจที่เพิ่งสอบเข้ามาเป็นตำรวจได้ ไม่เคยมีประสบ การณ์ในการสืบสวนคดีอาชญากรรมมาก่อน

จำเป็นต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสืบสวนสมัยใหม่ ประกอบกับต้องเรียนรู้การใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย เพื่อทำให้การสืบสวนคดีต่างๆ ง่ายยิ่งขึ้น

“ก่อนอื่นทุกคนต้องเรียนรู้ภาคทฤษฎีและจะต้องปฏิบัติการสืบสวนจริงด้วย โดยการสืบสวนในพื้นที่จริงนั้นผมเห็นว่า บช.ปส.อยู่ระหว่างการระดมหมายจับ ผู้ต้องหาคดียาเสพติดค้างเก่าที่ได้ออกหมายจับไว้ประมาณ 3,000 คน แต่ยังไม่สามารถจับกุมตัวได้ จึงให้ตำรวจผู้เข้าอบรมแบ่งกลุ่มกันสืบสวน เพื่อติดตามจับกุมตัวคนร้ายเหล่านี้ ถือเป็นการช่วยราชการตำรวจในระหว่างที่ดำเนินการเรียนอยู่ด้วย” ผกก.ศฝร.กล่าว
3
สําหรับเทคนิคเรียนรู้ ในขั้นแรกคือต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการคัดกรองหมายจับและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลง หรือ “อัพเดต” สภาพข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องหา เช่น การเปลี่ยน แปลงถิ่นที่อยู่ การเปลี่ยนชื่อนามสกุล การเปลี่ยนแปลงบัตรประชาชน หรือการกระทำการใดๆ ที่เกี่ยวกับทะเบียนราษฎร ข้อมูลในส่วนนี้ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานในการแกะรอยสู่ตัวคนร้าย

ในขั้นตอนที่สอง คือสังเกตความเคลื่อน ไหวของบุคคลรอบข้างของผู้ต้องหา เช่น คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท

ส่วนขั้นตอนที่สาม ความเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันของผู้ต้องหาว่าในวันหนึ่งๆ ผู้ต้องหาที่หลบหนีนั้นใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง

ข้อมูลส่วนนี้สามารถแกะรอยได้จากหลักฐานทางการเงิน หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ววิธีการนี้จะเป็นการตรวจสอบทางเทคนิค ที่อาจต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาเกี่ยวข้อง

ส่วนขั้นตอนสุดท้าย คือการเรียนรู้ที่จะต้องใส่ใจประสานงานกับตำรวจหน่วยอื่นหรือหน่วยงานราชการ อื่นๆ เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับคดีต่างๆ ที่ ผู้ต้องหาอาจจะไปก่อซ้ำซ้อน หลายครั้งจะพบว่าผู้ต้องหาถูกจับในคดีอื่นอยู่ และยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ในกรณีนี้ก็สามารถขออายัดตัวมาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้นักสืบจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ระบบ “Crime” ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลใหม่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เพิ่งเริ่มใช้เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาด้วย

หลังจากผ่านการอบรมไปแล้ว ตำรวจทุกนายจะถูกส่งลงพื้นที่ต้นสังกัดตามโรงพักต่างๆ ในเขตนครบาล โดยจะสามารถสร้างหรือรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือกันสืบสวนคดีอาญาตามที่แต่ละคนถนัดด้วย เมื่อแต่ละคนมีองค์ความรู้และได้ปฏิบัติงานจริงในการสืบจับตัวผู้ต้องหาแล้ว การไปทำงานในพื้นที่จะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้นด้วย

พ.ต.อ.อุเทนกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ของนักเรียนทั้ง 77 คน ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สามารถจับกุมคนร้ายคดีค้ายาเสพติดตามหมายจับคดีค้างเก่าไปได้แล้วกว่า 17 คดี ซึ่งถือว่าอยู่ในมาตรฐานที่ดีและจะได้สืบจับกันต่อไป

เมื่อตำรวจไทยไม่หยุดการเรียนรู้ ทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เหล่าอาชญากรร้ายก็หมดเวลาที่จะลอยนวลพ้นเงื้อมมืออาญาบ้านเมืองแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน