แฟ้มคดี

เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

สำหรับกรณีการลงโทษประหารชีวิตครั้งแรกของไทย เมื่อ วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา

เป็นการประหารครั้งแรกในรอบ 9 ปี ด้วยการฉีดยาพิษ

คร่าชีวิต นายธีรศักดิ์ หลงจิ ในวัย 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่า ผู้อื่นอย่างทารุณเพื่อชิงทรัพย์

ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และการเคลื่อนไหวของทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษประหาร

พร้อมทั้งทวงสัญญาที่ไทยเคยประกาศไว้ว่าจะเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต และการปกป้องสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของประชาชน

เช่นเดียวกับผู้แทนของสหภาพยุโรป ที่ออกแถลงการณ์ระบุว่า น่าเสียดายที่อีกเพียง 1 ปี ไทยก็จะไม่มีโทษประหารครบ 10 ปี จะทำให้เข้าไปอยู่ในรายชื่อร่วมกับประเทศอื่นๆที่พักการใช้โทษประหารอย่างเป็นทางการ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับแสดงให้เห็นถึงการก้าวถอยหลังอย่างชัดเจน

ขณะที่ทางการไทยยืนยันจำเป็นต้องมีโทษประหาร เพื่อควบคุมสังคมให้อยู่ในระเบียบเรียบร้อย

ถือเป็นความเห็นที่แตกต่างใน 2 มุมมอง

ประหารชีวิตครั้งแรกใน 9 ปี

เหตุการณ์ประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 9 ปี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. โดยพ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า เมื่อเวลา 15.00-18.00 น. กรมราชทัณฑ์ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิต นักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2555 ที่จังหวัดตรัง

นักโทษเด็ดขาดดังกล่าวได้ทำร้ายและบังคับให้เอาทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ รวมทั้งใช้มีดแทงผู้ตาย รวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาพิพากษายืนเป็นผลให้คดีถึงที่สุด

การบังคับโทษประหารชีวิตดังกล่าวใช้วิธีการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย นับเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 นับแต่มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ซึ่งเปลี่ยนวิธีการบังคับโทษประหารชีวิตจากการยิงเสียให้ตายเป็นการฉีดสารพิษ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 ถึงปัจจุบันมีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว 325 ราย แยกเป็นการใช้อาวุธปืนยิง 319 ราย รายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2546

การฉีดยาสารพิษ 6 ราย ฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2546 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552

การประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง คือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต แม้หลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วก็ตาม

แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่เช่นเดียวกับประเทศไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเน้นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย

กรมราชทัณฑ์หวังว่าการประหารชีวิตในครั้งนี้ จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิดจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือกระทำผิดกฎหมายได้ยั้งคิดถึงบทลงโทษนี้

เป็นเหตุผลในการประหารชีวิต

“แอมเนสตี้-อียู”ค้าน

หลังจากเหตุการณ์ประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงระบุว่า โทษประหารในไทย เป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ที่น่าละอายอย่างยิ่ง เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกิจที่เคยประกาศไว้ว่าจะเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต และการปกป้องสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของประชาชน

ทั้งยังเป็นการทำตัวไม่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งต่างกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหารชีวิต ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าโทษประหารชีวิตจะส่งผลให้บุคคลยั้งคิดก่อนกระทำความผิดอย่างชัดเจน การที่ทางการไทยคาดหวังว่ามาตรการเช่นนี้จะช่วยลดการก่ออาชญากรรม จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง

โทษประหารชีวิตถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด ทั้งยังไม่ได้เป็นคำตอบสำเร็จรูปที่ช่วยแก้ปัญหาที่ทางการต้องการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

หลังผ่านไปเกือบ 10 ปีที่ไม่มีการประหารชีวิต การประหารชีวิตครั้งนี้จึงถือเป็นความถดถอยครั้งสำคัญของไทย บนเส้นทางที่จะนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

รัฐบาลไทยต้องยุติแผนการใดๆ ก็ตามที่จะประหารชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง และต้องประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ

ขณะที่โฆษกของผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกแถลงการณ์ว่า ปีหน้าก็จะครบรอบ 1 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ได้เข้าไปอยู่ในรายชื่อร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่พักการใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สหภาพยุโรปได้คาดหวังไว้ผ่านการหารือกับฝ่ายไทย แต่กรณีการประหารชีวิตครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการก้าวถอยหลังอย่างชัดเจน

สหภาพยุโรปต่อต้านโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดๆ และมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก เนื่องจากการประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ซึ่งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งการ กระทำผิด และยังเป็นการปฏิเสธศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ไม่ได้

สหภาพยุโรปขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยงดเว้นการประหารชีวิตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดำเนินการเพื่อพักการใช้โทษประหารและยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด

เป็นข้อเรียกร้องจากนานาประเทศ

ไทยยันต้องมีเป็นบทเรียน

ส่วนท่าทีของรัฐบาลไทย โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ระบุว่า เป็นกฎหมายของเราที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ตอนที่พิจารณาว่าจะยกเลิกโทษประหารหรือไม่นั้น เสียงประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า เห็นควรให้มีอยู่ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม

ปัจจุบันมีคดีร้ายแรงหลายๆ คดีเกิดขึ้น การมีโทษประหารก็เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุขและเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ

ซึ่งเป็นเรื่องความจำเป็นของเราและความต้องการของประชาชน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยพยายามทำตามข้อตกลงของสหประชาชาติที่จะไม่ใช้โทษประหารชีวิต

แต่อย่างน้อยโทษประหารไม่ขัดรัฐธรรมนูญมีอยู่ในกฎหมายไทย และคดีที่ตัดสินโทษประหารล่าสุดนั้นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ยืนตามกันว่าจะต้องมีโทษประหาร เพราะเป็นคดีอุกฉกรรจ์สั่นสะเทือนมากจึงมีเหตุผลพอสมควร อย่างไรก็ตาม เมื่อมีองค์กรระหว่างประเทศไม่เข้าใจ

กระทรวงการต่างประเทศก็จะต้องชี้แจงให้เข้าใจ

เป็นท่าทียืนยันโทษประหารของรัฐบาลไทย

ย้อนคดีฆ่าโหดชิงมือถือ

สำหรับเหตุการณ์ที่นำมาสู่การประหารครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2555 ตร.สภ.เมืองตรังรับแจ้งเหตุฆ่ากันตายภายในสวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 ต.ทับเที่ยง เทศบาลนครตรัง ตรวจสอบพบศพ นายดนุเดช สุขมาก อายุ 17 ปี สภาพสวมเสื้อยืดคอกลมสีชมพู กางเกงยีนส์ขายาว นอนหงายจมกองเลือด มีบาดแผลถูกของมีคมแทงพรุนทั่วร่างกาย

ผลการสอบสวนทราบว่าก่อนเกิดเหตุนายดนุเดช ซึ่งเป็น นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนเอกชนชื่อดังในจ.ตรัง ถูกชายวัยรุ่น 2 คน ใช้มีดปลายแหลมไล่แทงมาจากหน้าโรงเรียนบูรณะรำลึก ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 200 เมตร แล้วก็วิ่งหนีเข้ามาในสวนสาธารณะดังกล่าว

ระหว่างนั้น แฟนสาวผู้ตาย ซึ่งเป็นนักเรียนม.5 อีกโรงเรียนหนึ่ง พยายามเข้ามาห้ามปราม แล้วบอกให้กลุ่มชายวัยรุ่น ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นอดีตแฟนเก่า และอยู่ในอาการมึนเมาสุราอย่างหนัก ให้หยุดทำร้ายผู้ตาย

แต่ชายวัยรุ่นทั้งคู่ไม่ฟังเสียง รุมแทงผู้ตายจนล้มจมกองเลือด ก่อนที่จะมีพลเมืองดีมาเห็นแล้วตะโกนให้ตำรวจช่วย ชายวัยรุ่นจึงล้วงเอากระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์มือถือของผู้ตายวิ่งหนีไปแล้วขี่จยย.หลบหนีไปอย่างรวดเร็ว

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายธีรศักดิ์ หรือมิก หลงจิ อายุ 19 ปี พร้อมอาวุธมีดปลายแหลม 1 เล่ม ในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และร่วมกันชิงทรัพย์ เนื่องจากมีพยานเห็นและยืนยันตรงกันว่ารถจยย.ที่ใช้ก่อเหตุเป็นของนายธีรศักดิ์ เมื่อไปตรวจสอบในเฟซบุ๊ก ก็พบว่าเป็นรถจยย.ของนายธีรศักดิ์จริง

และจากการสอบสวนพบว่า ก่อนเหตุเกิดนายดนุเดช พร้อมแฟนสาวมานั่งเล่นภายในสวนสาธารณะดังกล่าว ก่อนที่นาย ธีรศักดิ์ กับพวกรวม 2 คน ขี่จยย.ซ้อนท้ายมาด้วยกัน แล้วเข้ามาข่มขู่รีดไถ แต่นายดนุเดชไม่ยอม จึงวิ่งหนีเอาตัวรอด แต่ก็ถูกนายธีรศักดิ์ และพวกไล่ตามมาจนทัน แล้วใช้มีดรุมแทงก่อนเอาเงินในกระเป๋าสตางค์ 2,000 บาท และโทรศัพท์หลบหนีไป

แม้นายธีรศักดิ์ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน และชั้นศาล แต่ตำรวจยืนยันว่ามีหลักฐานสำคัญคืออาวุธมีด นอกจากนี้ยังพบประวัติของนายธีรศักดิ์มีคดีติดตัวถึง 6 คดี

ในที่สุดศาลฎีกาตัดสินประหาร ครอบครัวยื่นถวายฎีกาไม่เป็นผล

รับโทษเป็นรายแรกในรอบ 9 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน