คอลัมน์ แฟ้มคดี

นับว่าดุเดือดคึกคักเป็นอย่างยิ่ง สำหรับปฏิบัติการปิดล้อมวัดพระธรรมกาย

เพื่อเข้าตรวจค้นจับกุมตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีรับของโจรและฟอกเงินของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ที่มีการยกระดับจากครั้งที่ผ่านๆ มา ด้วยการใช้อำนาจม.44 ของนายกฯและหัวหน้าคสช.สั่งเป็นพื้นที่พิเศษ

ห้ามบุคคลเข้าออกเด็ดขาด

พร้อมใช้กำลังทหารสนธิกับตำรวจและดีเอสไอกว่า 3 พันนาย

แม้การเข้าค้นวันแรกที่บุกเข้าไปถึงเตียงผู้ป่วยในกุฏิดาวดึงส์ จะคว้าน้ำเหลว

เจอเพียงเตียงและกองหมอนให้ดูต่างหน้า

แต่เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง ว่าสุดท้ายปฏิบัติการนี้จะสำเร็จมรรคผลอย่างไร

ลุยธรรมกายจับธัมมชโย

คล้อยหลังจากพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เพียงไม่กี่วัน รัฐบาลก็หันมาให้ความสำคัญกับการเข้าจับกุมพระธัมมชโย ภายในวัดพระธรรมกายอย่างจริงจังอีกครั้ง

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ส่งเจ้าหน้าที่ตั้งด่านปิดล้อม พร้อมดำเนินคดีกับพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย รวมแล้ว 308 คดี

แต่ก็ไม่ได้ผลสำเร็จเป็นรูปธรรมนัก จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ต้องออกมากำชับเจ้าหน้าที่ยุติการให้ข่าวเรื่องนี้

เพราะเกรงว่าจะถูกมองว่าไร้น้ำยา!??

มาครั้งนี้ด้วยการจัดขบวนใหม่ โดยตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. ก็มีกระแสข่าวออกมาอย่างแพร่หลายว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้ควบคุมคดี พร้อมให้กำลังทหารโดยแม่ทัพภาคที่ 1 เข้ามาดูแลสถานการณ์แทน

โดยวันที่ 15 ก.พ. ที่บช.ภาค 1 พล.ต.ต.สมบัติ มิลินทจินดา รอง ผบช.ภ.1 ร่วมประชุมลับกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อวางแผนเตรียมเข้าจับกุม

ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ พบว่าสถานการณ์ภายในวัด มีบรรดาศิษย์และสาวกภายในบางตา และมีรายงานข่าวจากสายลับที่ลงไปทำหน้าที่ เชื่อแน่ว่าพระธัมมชโย ยังคงอยู่ในวัด

นับเป็นโอกาสดีที่จะเข้าปฏิบัติการจับกุมอีกรอบ

จึงมีคำสั่งให้หน่วยปราบจลาจล ทั้งจาก บช.ภาค 1 บช.ภาค 7 ดีเอสไอ และกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1 เตรียมความพร้อมหลังเที่ยงคืนวันที่ 15 ก.พ.

ขณะที่เวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 16 ก.พ. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะคสช.ที่ 5/2560 กำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

โดยมีคำสั่งให้วัดพระธรรมกายตลอดจนพื้นที่โดยรอบวัดพระธรรมกายในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รวมถึงพื้นที่หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 หมู่ 11 หมู่ 12 และหมู่ 13 ในตำบลคลองสอง และพื้นที่หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 และหมู่ 11 ในตำบลคลองสาม อำเภอคลอง หลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งนี้

ตัดน้ำ-ไฟได้-ห้ามฟ้องศาลปค.

พร้อมให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมการเข้าหรือออกในพื้นที่ สั่งให้บุคคลใดออกจากพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนด หรือสั่ง ให้บุคคลใดเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุม หรือดูแลความปลอดภัย หรือให้งดเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นการรบกวนหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่

ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวข้องกับการ กระทำความผิด

จับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดอาญาซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ดำเนินการเพื่อควบคุมระบบสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสาร การใช้อากาศยานไร้คนขับ ตลอดจนกำหนดมาตรการและดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือดูแลความปลอดภัย

เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดเพื่อตรวจค้น รวมตลอด ทั้งค้นตัวบุคคลและยานพาหนะ

รื้อถอน ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกั้น

ดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นตามสมควรแก่กรณี

โดยให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ และให้มีอำนาจร้องขอให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ ในกรณีจำเป็นอาจร้องขอให้พระสังฆาธิการ ผู้ปกครองสงฆ์ และภิกษุอื่นที่เกี่ยวข้อง อนุเคราะห์ให้การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยเรียบร้อยตามกฎหมายและพระธรรมวินัยด้วยก็ได้ เมื่อได้รับการร้องขอตามวรรคหนึ่งแล้วให้หน่วยงานหรือบุคคลที่ได้รับการร้องขอดำเนินการให้เป็นไปตามคำร้องขอในทันทีหรือภายในระยะเวลาที่กำหนด

ผู้ใดขัดขวางหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งนี้ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกระทำตามคำสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

บุกค้นเจอแต่เตียง-หมอน

หลังมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรที่พล.อ.ประยุทธ์ เซ็นด้วย ตัวเอง การปฏิบัติการก็ดำเนินขึ้นทันที โดยตั้งแต่เวลา 02.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารตั้งจุดตรวจสกัดเส้นทางเข้าออกของวัดทุก เส้นทาง ตรวจค้นรถทุกคันเพื่อเฝ้าระวัง และป้องกันผู้เข้ามาสร้างสถานการณ์

สกัดกั้นศิษย์ที่จะเข้ามาในวัด ยกเว้นผู้ที่มีที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว พร้อมทั้งนำป้ายประกาศข้อกฎหมายและฐานความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช. มาตั้งให้ประชาชนที่อยู่ภายในรับทราบ

ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับพระในวัดที่กำลังจะออกบิณฑบาต

แต่ในที่สุดก็สามารถเข้าตรวจสอบได้สำเร็จ โดยมีลูกศิษย์วัด และพระภิกษุคอยนำตรวจ

ทั้งนี้ในการเข้าตรวจสอบกุฏิดาวดึงส์ ที่ระบุว่าเป็นที่รักษาอาการอาพาธของพระธัมมชโย

เจ้าหน้าที่กลับพบเพียงเตียงผู้ป่วยที่คลุมด้วยผ้าห่ม

แต่เมื่อเปิดออกมาดูกลับพบเพียงเตียงเปล่าๆ ที่มีหมอนวางเรียงกันในลักษณะเหมือนคนนอนอยู่

โดย พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย ยอมรับว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพในห้องรักษาตัวของพระธัมมชโยจริง

ซึ่งหมอนที่วางเรียงกันนั้นไม่ใช่เอาไว้เป็นหุ่นหลอก แต่แค่ กันฝุ่นจับเท่านั้น

ส่วนตัวพระธัมมชโยไปอยู่ที่ไหนนั้น ไม่ทราบจริงๆ เพราะไม่ได้มีหน้าที่ต้องติดต่อกัน

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ เผยว่า การตรวจค้นในวันแรกใช้กำลังเจ้าหน้าที่ 4,240 นาย แบ่งพื้นที่เป็น 3 โซน คือโซนเอ 196 ไร่ ค้นหมดแล้ว ไม่พบพระธัมมชโย โซนบีจะเป็นอาคารมูลนิธิ และอาคารมหาธรรมกายเจดีย์

ซึ่งไม่กำหนดเวลา แต่จะตรวจสอบต่อไปจนกว่าจะเจอ

อ่วมหนัก-เจออีก 308 คดี

สำหรับพระธัมมชโย หรือพระเทพมหามุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาในข้อหารับของโจร และฟอกเงิน กรณีรับเงินบริจาคจาก นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 21 ครั้ง เป็นเงิน 1.2 พันล้านบาท

แม้ต่อมาทางวัดพระธรรมกายจะคืนเงินทั้งหมด พร้อมปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เพราะถือเป็นเงินบริจาค ที่ผู้รับไม่สามารถตรวจสอบที่มาของเงินได้

นอกจากนี้ยังระบุว่าผู้บริจาคเงินหลักพันล้านยังมีอีกหลายราย ไม่สามารถตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตามดีเอสไอก็ยังดำเนินคดีพร้อมขออนุมัติหมายจับถึง 3 ครั้ง แต่พระธัมมชโยไม่เข้าพบพนักงานสอบสวน ระบุว่าต้องรักษาอาการอาพาธ

หลังจากพยายามหลายต่อหลายหน เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถควบคุมตัวมาดำเนินคดี

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสั่งการให้ดำเนินคดีกับวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยในทุกคดีที่พบความผิด

โดยในพื้นที่สภ.คลองหลวง สั่งดำเนินคดี 178 คดี ประกอบด้วยความผิดฐานบุกรุก 16 คดี ความผิดตามพ.ร.บ.ขนส่งทางบก 20 คดี ความผิดฐานกีดขวางการจราจร 5 คดี ความผิดฐานหมิ่นประมาท 1 คดี

ความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 128 คดี ความผิดตามพ.ร.บ.น้ำบาดาล 1 คดี ความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ 4 คดี ความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงาน 2 คดี และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งทรัพย์ที่เจ้าพนักงานยึดไว้ 1 คดี

ในความรับผิดชอบกองปราบปราม มีความผิดตาม ม.116 ปอ. 1 คดี ซึ่งออกหมายจับศาลอาญาต่อ น.ส.ดวงกมล ทองคณารักษ์ และ น.ส.ทิพววรรณ์ สุจริยานุรักษ์

ของบก.ปทส. 19 คดี มีหมายจับพระธัมมชโยจากศาลจังหวัดสีคิ้ว

สภ.เกาะยาว จ.พังงา 103 คดี แบ่งเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 98 คดี ความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ 1 คดี ความผิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืน 1 คดี ความผิดตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 1 คดี ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน 1 คดี ความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม 1 คดี

สภ.ภูเรือ จ.เลย 6 คดี มีความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ 3 คดี ความผิดฐานออกน.ส.3 ก. โดยมิชอบ 2 คดี ความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 1 คดี

สภ.อุ้มผาง จ.ตาก 1 คดีคือความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้

รวมแล้ว 308 คดี หมายจับ 10 คดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน