รายงานปทุมวัน

นับเป็นอีก 1 กฎหมายที่มีผลต่อการจัดระเบียบสังคม อย่างยิ่ง

สำหรับ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ที่สนช.อนุมัติและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ปลายปี 2558

โดยมีจุดมุ่งหวังที่จะจัดระเบียบให้ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่รปภ. ต้องผ่านการฝึกอบรม เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อยกระดับธุรกิจความปลอดภัย

รวมทั้งให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม

เพราะหลายครั้งที่เหตุอาชญากรรม และความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเกิดจากฝีมือรปภ.นั่นเอง

แม้จะมีข้อโต้แย้งจากผู้ประกอบการทันทีที่กฎหมายประกาศใช้ ทั้งเรื่องวุฒิการศึกษาขั้นต่ำของเจ้าหน้าที่รปภ. และระยะเวลาที่กำหนดให้ปรับเปลี่ยน

ทำให้นายกฯและหัวหน้าคสช.ต้องใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไขและยืดระยะเวลาออกไป

มาจนบัดนี้การประวิงเวลาก็หมดลง และต้องบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.นี้แล้ว

ตร.ถกนายทะเบียนรปภ.

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวิระ ทรงเมตตา ที่ปรึกษา (สบ 10) ได้เรียกประชุมผู้บังคับการตำรวจภูธรทั้ง 76 จังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนจังหวัดตามพ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 และตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 400 คน

เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบแนวทางการปฏิบัติและสามารถปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียนได้อย่างถูกต้อง

โดย พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ระบุว่า พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2558 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2559

ซึ่งธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยเป็นจำนวนมาก แต่มีมาตรฐานในการประกอบธุรกิจที่แตกต่างกัน

จึงสมควรกำหนดมาตรฐานของธุรกิจรักษาความปลอดภัยและมาตรฐานของพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานธุรกิจรักษาความปลอดภัย และเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานรักษาความปลอดภัย อันเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการและช่วยเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ดังนั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงจัดทำ ?โครงการอบรมนายทะเบียนจังหวัดตามพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558? ขึ้น เพื่อเชิญนายทะเบียนจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมารับฟังชี้แจงอำนาจหน้าที่และแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ

ย้ำเส้นตาย-ห้ามเกิน 26 ก.พ.

ขณะที่พล.ต.อ.สุวิระ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยธุรกิจรักษาความปลอดภัย กล่าวว่า เนื้อหาสำคัญของพ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ตามคำสั่งคสช.ที่ 67/2559 ลงวันที่ 10 พ.ย.2559

หากผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย และผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ต้องยื่นความประสงค์ขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนจังหวัด ที่บก.ภ.จว.แต่ละพื้นที่ภายในวันที่ 26 ก.พ.2560

หากพ้นกำหนดจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทเฉพาะกาลของคำสั่งคสช.ที่ 67/2559 ลงวันที่ 10 พ.ย.2559 และมีบทกำหนดโทษตามพ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558

คือผู้ใดทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนผู้ใดประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อบริษัทธุรกิจรักษาความปลอดภัยมาแจ้งลงทะเบียนแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทราบว่าภายในบริษัทแต่ละแห่งมี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกี่คน ประวัติจะถูกจัดเก็บไว้ จากนั้นผู้ปฏิบัติหน้าที่รปภ.ต้องฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกตำรวจตามภูธรต่างๆ โดยมีครูฝึกเป็นตำรวจเป็นผู้ฝึกอบรมเกี่ยวกับความรู้

โดยจะต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน การเขียนรายงาน การเตรียมพร้อมกรณีมีเหตุฉุกเฉิน การติดต่อสื่อสาร หลักการใช้กำลัง หรือยุทธวิธีตำรวจ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การจัดการจราจร การฝึกภาคสนาม รวมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติเป็นเวลา 40 ช.ม.

เมื่อฝึกจบแล้ว บก.ภ.จว.จะเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้ท่านสามารถประกอบอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ ซึ่งมีลักษณะเหมือนใบขับขี่รถยนต์ที่ทุกคนต้องมี ถึงจะขับรถได้ จากนั้นสามารถไปสมัครงาน เป็นรปภ.ที่ไหนก็ได้ และยังถูก แต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานอีกด้วย

แก้คุณสมบัติ-รปภ.เก่า เป็นได้

ส่วนเรื่องของคุณสมบัติการศึกษาของผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นรปภ. ที่เป็นปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษาที่กำหนดต้องจบชั้นมัธยม 3 แต่คำสั่งม.44 สั่งแก้ไขให้เป็นการจบการศึกษาภาคบังคับในยุคนั้นเพื่อแก้ปัญหาไปแล้วนั้น

พล.ต.ต.พรชัย ขันตี รองผบช.สตม.ในฐานะเลขานุการ กมธ. ร่างพ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ย้ำอีกครั้งถึงคุณสมบัติของพนักงานรักษาความปลอดภัย ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์

สําเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ หรือจบชั้นม.3 ได้รับหนังสือรับรองว่าผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรรักษาความปลอดภัยจากสถานฝึกอบรมของตำรวจในพื้นที่

ขณะที่ลักษณะต้องห้าม ต้องไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติด ต้องไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เคยได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกสําหรับความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับเพศ

เว้นแต่เป็นโทษความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ หรือพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

ส่วนบุคคลที่เคยเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยมาก่อนหน้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด แต่ต้องมาขึ้นทะเบียนและฝึกอบรมกับเจ้าหน้าที่ตาม วันที่กำหนดด้วย

ในส่วนของคุณสมบัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย บริษัทต้อง มีจํานวนหุ้นถือโดยบุคคลสัญชาติไทยเกินกึ่งหนึ่งของทุน จดทะเบียนบริษัท ต้องมีกรรมการเป็นบุคคลสัญชาติไทยเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย

ที่สำคัญต้องใช้ชื่อว่าบริษัทรักษาความปลอดภัย เสียค่าใบอนุญาตฉบับละ 5 หมื่นบาท

ขณะที่ผู้เป็นรปภ.ต้องเสียค่าใบอนุญาตฉบับละ 1 พันบาท

เผยคำสั่ง ม.44 ช่วยแก้

สำหรับพ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 มีเนื้อหาทั้งสิ้น 76 มาตรา เดิมใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ต้องใช้คำสั่งมาตรา 44 ที่แก้ไขปัญหา

โดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 67/2559 ระบุว่า ด้วยเหตุที่ต้องเตรียมการต่างๆ อันพึงต้องกระทำเพื่อให้การบังคับกฎหมายแก่พนักงานรักษาความปลอดภัยจำนวนหลายแสนคน และบริษัทหลายพันแห่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เนื่องจากการตราอนุบัญญัติและ การกำหนดมาตรการรองรับตามที่กฎหมายกำหนดยังมีปัญหาขัดข้อง ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเป็นจำนวนมาก เพราะเหตุแห่งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรปภ.ทั้งที่ประกอบอาชีพนี้อยู่แต่เดิม และที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ในอนาคต แม้มีบทเฉพาะกาลยกเว้นหรือผ่อนผันไว้ให้ แต่ผลกระทบก็ ยังมีอยู่

จึงมีคำสั่งให้แก้ไขในรายละเอียดของคณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย โดยให้เป็นไปตามที่นายกฯกำหนด และให้ผบช.น.เป็นกรรมการและเลขานุการ

ส่วนเรื่องของคุณสมบัติเรื่องวุฒิการศึกษาที่แต่เดิมกำหนดให้ต้องจบชั้นมัธยมปีที่ 3 เป็นสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับที่ใช้อยู่ขณะที่สำเร็จการศึกษา

พร้อมขยายเวลาจากแต่เดิม 120 วัน เป็นให้ผู้ประกอบการธุรกิจรักษาความปลอดภัยในวันก่อนที่พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ หากประสงค์ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายใน 360 วันนับแต่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

เช่นเดียวกับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ต้องยื่นใบขอรับอนุญาต ภายใน 360 วัน

ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 26 ก.พ.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน