เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ชี้ชัดนปช.ไม่ได้เผาเมือง
สั่งบริษัทประกันชดใช้ ตามรอยคดีเซ็นทรัลเวิลด์
คอลัมน์ : แฟ้มคดี
นปช.ไม่ได้เผาเมือง – เป็นอีก 1 คำพิพากษาศาลฎีกาที่มีผลอธิบายสภาพการเมืองไทยเมื่อปี 2553
สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้บริษัทประกันภัย 6 แห่งชดใช้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากกรณีที่ถูกกลุ่มคนบุกเข้าไปเผาในวันที่ 19 พ.ค. 2553
ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการชุมนุมขับไล่รัฐบาลของนปช.
โดยระบุว่าไม่ใช่การลงมือของกลุ่มนปช.ที่ต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นการกระทำของกลุ่มคนที่ปิดบังใบหน้า หวังผลให้เกิดความ เสียหาย
ที่สำคัญการก่อเหตุเป็นช่วงหลังจากการชุมนุม และทหารเข้าควบคุมพื้นที่หมดแล้ว
จึงเข้าเงื่อนไขการประกันภัย
ซึ่งก็สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลแพ่งในกรณีเซ็นทรัลเวิลด์
ย้ำให้เห็นชัดเจนว่านปช.ไม่ได้เผาบ้านเผาเมืองตามที่กล่าวหา
ส่วนใครเป็นผู้ลงมือ อยู่ที่การสืบสวน ซึ่งหวังว่าความจริงจะปรากฏขึ้นมาสักวันหนึ่ง
ฎีกาตัดสินคดีเผาปี 53
สำหรับคำพิพากษานี้เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2562 โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา หมายเลขดำ 8132/2561 ในคดี ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทศูนย์รับฝากทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทแฟมิลี่ โนฮาว จำกัด โจทก์ ที่ 1-3
ยื่นฟ้อง บริษัทนิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทฟอลคอลประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในเรื่องประกันภัย
โดยคดีดังกล่าวโจทก์ยื่นฟ้องว่า ได้ทำสัญญาประกันภัยทรัพย์สินที่อยู่ภายในอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไว้ต่อจำเลยทั้งหก คุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิด จำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 3,474,408,510.33 บาท ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.2553 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2554
โดยจำเลยทั้งหกแบ่งสัดส่วนการรับประกันภัยดังนี้ จำเลยที่ 1 ร้อยละ 30 จำเลยที่ 2 ร้อยละ 20 จำเลยที่ 3 ร้อยละ 15 จำเลยที่ 4 ร้อยละ 15 จำเลยที่ 5 ร้อยละ 10 และจำเลยที่ 6 ร้อยละ 10
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 มีกลุ่มบุคคลไม่ทราบจำนวนบุกเข้าทุบทำลายและวางเพลิงเผาอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายจากการทุบทำลาย เพลิงไหม้ น้ำที่ใช้ดับเพลิงจากอุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ
โจทก์ทั้ง 3 บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้ง 6 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่จำเลยทั้ง 6 เพิกเฉยไม่ชำระ
ขณะที่จำเลยทั้ง 6 ให้การทำนองเดียวกันว่า เหตุที่ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะความเสียหายจากการวางเพลิงเผาอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ เกิดจากการก่อความไม่สงบของประชาชน ที่ถึงขนาดลุกฮือต้านรัฐบาล และเป็นการก่อการร้าย
เข้าข้อยกเว้นความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่จำเลยทั้ง 6 ไม่ต้องรับผิดทั้งความเสียหายจากการทุบทำลาย เพลิงไหม้ น้ำที่ใช้ดับเพลิงจากอุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ และควันไฟ ไม่ใช่ภัยเนื่องจากการกระทำอันป่าเถื่อนและกระทำด้วยเจตนาร้ายมุ่งหวังทำลายตัวทรัพย์ที่เอาประกันภัยเพียงอย่างเดียว
หากเป็นการกระทำของกลุ่มนปช. ที่มุ่งหวังให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองและเป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเป็นสำคัญ
ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้ง 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน
สู้กันต่อถึงชั้นศาลฎีกา
สั่ง 6 บริษัทประกันชดใช้ 187 ล.
ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคประชุมวินิจฉัยว่าต้องพิจารณาประการแรกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย เกิดจากภัยประเภทใด และ เป็นภัยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่าข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของคู่ความทั้งสอง รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทำสัญญาประกันภัยอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์สำนักงาน ไว้ต่อจำเลยทั้ง 6 โดยกรมธรรม์ดังกล่าวคุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิด และกำหนดความคุ้มครองภัยต่างๆ อันได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ภัยจากลมพายุ ภัยจากอากาศยาน ภัยระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว
ภัยความเสียหายเนื่องจากน้ำ (ไม่รวมน้ำท่วม) ภัยลูกเห็บ ภัยไฟป่า ภัยจากควัน ภัยจลาจลและนัดหยุดงาน ภัยเนื่องจากป่าเถื่อน และการกระทำโดยเจตนาร้าย ความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุจากภัยภายนอก
เมื่อปรากฏว่าเหตุความเสียหายดังกล่าวเป็นผลมาจากกลุ่มคนบุกรุกเข้าไปในอาคาร และก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ จนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ความเสียหาย ดังกล่าวจึงเป็นภัยที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้ และการกระทำด้วยเจตนาร้ายซึ่งเป็นภัยที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกรมธรรม์
นอกจากนี้เห็นว่าแม้กลุ่มบุคคลบุกรุกเข้าทุบทำลายอาคาร จะเกิดขึ้นวันเดียวกับวันที่รัฐบาลส่งทหารเข้าสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ แต่นายสมชาย แซ่เล้า รปภ. ให้การกับดีเอสไอ ว่า วันเกิดเหตุมีชายฉกรรจ์ปิดบังใบหน้า บุกรุกเข้ารื้อแผงกั้นจราจรที่วางเป็นแนวรั้วชั่วคราวและใช้อิฐตัวหนอน ป้ายโลหะ และถังดับเพลิง ทุบทำลายกระจก ประตู หน้าต่างของอาคาร เข้าไปจุดไฟเผาอาคาร โดยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำของนปช. หรือของประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง ตามที่จำเลยทั้งหกอ้าง
ประกอบกับข้อเท็จจริง รับฟังได้ว่าภายหลังรัฐบาลส่งกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของนปช.ที่แยกราชประสงค์ แกนนำผู้ชุมนุมประกาศยุติ และเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.
ส่วนประชาชนที่ร่วมชุมนุมก็ทยอยเดินออกจากสถานที่ชุมนุมเพื่อขึ้นรถโดยสารที่รัฐบาลจัดให้เดินทางกลับภูมิลำเนา โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ณ บริเวณสถานที่ชุมนุมดังกล่าว หรือในสถานที่ชุมนุมอื่น ยังมีประชาชนประท้วงต่อต้านรัฐบาลอยู่ต่อเนื่อง หรือเกิดการชุมนุมโดยประชาชนกลุ่มอื่นขึ้นมาใหม่
และเหตุเพลิงไหม้อาคารเกิดขึ้นในเวลา 15.00 น. หลังจากที่การชุมนุมยุติไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ตลอดจนผู้ก่อเหตุมีประมาณ 10 คน ที่ปิดบังใบอำพรางใบหน้า และกระทำในลักษณะมีเจตนาก่อเหตุร้ายแล้วหลบหนีไปทันที โดยไม่มีประชาชนร่วมกระทำการ
พยานหลักฐานของจำเลย จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังว่าเหตุเพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นผลจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต้านรัฐบาล และเป็นการก่อการร้ายที่หวังผลทางการเมือง
จำเลยทั้ง 6 จึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้ง 3
จึงพิพากษากลับให้จำเลยทั้ง 6 ชดเชยค่าสินไหมทั้งหมดเป็นเงิน 187,057,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 4 ม.ค. 2554 จนกว่าจะชำระให้โจทก์ทั้ง 3
คำพิพากษาครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าเรื่องที่ใส่ร้ายว่านปช.เผาบ้านเผาเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องจริง
ย้อนคำพิพากษาเซ็นทรัลเวิลด์
ไม่เพียงแค่นั้น ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ก็เคยมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.4326/54 ที่กองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ โจทก์ที่ 1 กับพวกอีก 3 คน ประกอบด้วย บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่ 2, บริษัทเซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด ที่ 3 และบริษัทห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ จำกัด ที่ 4 ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยในความ ผิดสัญญาประกันวินาศภัย จากกรณีเหตุไฟไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างการกระชับพื้นที่เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏชัดว่าเป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือสั่งการจากแกนนำ ส่วนที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงปราศรัยมีเนื้อหาส่งเสริมความรุนแรงนั้น ถ้ามีการทำร้ายคนเสื้อแดงก็จะเกิดความรุนแรงขึ้น แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลจะสลายการชุมนุมเมื่อใด การปราศรัยจึงเป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้มีการสลายการชุมนุม
ส่วนเรื่องที่รัฐบาลประกาศให้ยุติการชุมนุมแต่ผู้ชุมนุมไม่ได้ยุติและก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น จะมีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายใดย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และจะเห็นว่ากลุ่มคนร้ายที่บุกรุกและเผาทรัพย์ในห้างสรรพสินค้าเซนมีจำนวนไม่มาก ใช้วิธีการไม่สลับซับซ้อน ไม่ได้ใช้ทักษะพิเศษใดๆ ที่ เป็นความชำนาญ สำหรับถังแก๊ส น้ำมัน ยางรถยนต์ ก็หยิบฉวยได้ในบริเวณใกล้เคียง ความเสียหายที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ
ที่สำคัญขณะมีการเผาห้างเซน แกนนำก็ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว คนร้ายที่เผาห้างสรรพสินค้าเซน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็มิได้ต้องการให้ข่มขู่รัฐบาลยุบสภาหรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี จึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่หวังผลการทางเมือง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้าย จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงทุกชนิดให้แก่โจทก์ทั้งสี่ หรือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นเงิน 2,719,734,975.29 บาท และให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้แก่โจทก์ที่ 1 และ 3 เป็นจำนวนเงิน 989,848,850.01 บาท
ย้ำกันอีกรอบว่าไม่ใช่นปช.เผา
แต่ใครเป็นคนร้ายตัวจริง หวังว่าจะมีวันที่ความจริงคลี่คลาย
อย่างไรก็ตามแม้จะมีคำพิพากษายืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารเข้ายึดพื้นที่ทั้งหมดตั้งแต่ ช่วงบ่าย
แต่คดีที่เกี่ยวเนื่องอย่าง 6 ศพวัดปทุมวนาราม ก็ยังไม่คืบหน้า มีเพียงคำสั่งไต่สวนการตาย แถมอัยการยังไม่สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่บนรางรถไฟบีทีเอส โดยอ้างว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ
ก็คงได้แต่รอว่าความยุติธรรมในสังคมจะมีอยู่จริง