คอลัมน์ แฟ้มคดี

ยังเป็นเหตุการณ์ที่รอความกระจ่าง สำหรับเหตุระเบิดกลางกรุงเมื่อค่ำ วันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา

แม้จะไม่มีฤทธิ์รุนแรงถึงขั้นคร่าชีวิตผู้คน แต่ก็ส่งผลสะเทือนอยู่ไม่น้อย

เนื่องจากเป็นการลงมือกลางกรุงภายใต้การรักษาความมั่นคงของรัฐบาลทหารคสช.

ทำกันเหมือนไม่เห็นอยู่ในสายตา!??

และเมื่อตรวจสอบลงไปก็ยิ่งต้องตระหนก เมื่อพบว่าระเบิดดังกล่าวถูกออกแบบและจัดทำมาเป็นอย่างดี ใช้ตัวตั้งเวลา ไม่ให้มีผลรุนแรง แต่หวังผลทางการเมือง

วงจรระเบิดคล้ายคลึงกับเหตุการณ์บึ้มป่วนกรุง 9 จุดในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เมื่อปี 2550

ครั้งนั้นผ่านมา 10 ปี ยังจับคนร้าย ไม่ได้ แล้วมาลงมืออีกครั้ง ย่อมส่งผลให้เกิดคำถามถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ว่าจะมีฝีมือเพียงพอที่จะจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีได้หรือไม่

พลิกนาทีบึ้มป่วนกลางกรุง

เหตุระทึกขวัญครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่ออยู่ๆ ก็เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นขึ้นที่บริเวณหน้ากองสลากเก่า ถนนราชดำเนินกลาง ส่งผลให้ผู้คนที่สัญจรบริเวณดังกล่าวต้องวิ่งหลบหนีกันอุตลุด

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะ สงคราม เทศกิจ เจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดหรืออีโอดี ก็รุดเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที

เบื้องต้นทราบเพียงว่ามีเหตุระเบิด ส่งผลให้ น.ส.สุริญาพร พูลสมบัติ และ นางพิมพ์วรา รวีนพสิทธิ์ เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดของกทม. บาดเจ็บหูอื้อ ส่งรักษาตัวที่ร.พ.วชิรพยาบาล และพบถังขยะแตกเสียหาย 1 ใบ

ซึ่งจากการสอบสวนทราบว่าก่อนเกิดเหตุ ทั้งคู่กำลังกวาดทำความสะอาดทางเท้าบริเวณดังกล่าว แล้วจึงนำขยะมาเทใส่ถัง จากนั้นประมาณ 1 นาที ก็เกิดระเบิดขึ้น

ขณะที่การตรวจสอบของชุดอีโอดี โดย พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผกก.กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ บช.น. ระบุว่า ระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดแสวงเครื่อง เป็นไปป์บอมบ์ ใช้ท่อพีวีซีบรรจุดินระเบิด 300 กรัม

จุดระเบิดด้วยการตั้งเวลาโดยใช้ไอซีไทเมอร์ ซึ่งเป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเวลาได้สูงสุดไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่อานุภาพไม่ร้ายแรง เนื่องจากใช้ดินระเบิดน้อย มีระยะทำลายประมาณ 1-2 เมตร แต่ไม่ทำให้ตาย

โดยอุปกรณ์เหล่านี้หาซื้อได้ตามแหล่งทั่วไป ส่วนเทคนิคการประกอบยากกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือนาฬิกาปลุกจุดชนวน จึงเชื่อได้ว่าผู้ประกอบระเบิดมีความรู้ความชำนาญด้านอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะทาง

และเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดเจ้าหน้าที่พบว่า ระเบิด ดังกล่าวถูกตั้งเวลาให้ระเบิดตอน 20.00 น.พอดี โดยระเบิดมีความทนทาน ไม่ว่าถูกกระแทกหรือถูกกวาดปนกับขยะบนท้องถนน ก็จะไม่ทำงาน

จึงพอสรุปได้ว่าผู้ประกอบมีความชำนาญเป็นพิเศษ และมุ่งเป้าเพียงแค่สร้างสถานการณ์ ไม่ได้หวังผลสังหาร

ที่สำคัญไม่ได้ตั้งใจให้เกิดระเบิดในถังขยะ แต่บังเอิญที่ เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดกวาดมารวมกันแล้วเอาไปทิ้งถังขยะพอดี จึงต้องเร่งตรวจสอบว่าจุดที่คนร้ายตั้งใจจะวางระเบิดนั้นเป็นจุดไหนกันแน่ เพื่อจะได้สอบย้อนไปหาต้นตอของมือระเบิดได้

ทั้งนี้ระเบิดดังกล่าว คล้ายกับลักษณะระเบิดในตู้โทรศัพท์สาธารณะห้างสรรพสินค้าเมเจอร์ รัชโยธิน เมื่อปี 2550 เชื่อว่าคนร้ายมีมากกว่า 2 คน ประกอบด้วยคนประกอบระเบิด และคนนำระเบิดไปวาง

และเป็นไปได้ที่จะมีผู้สั่งการอยู่เบื้องหลัง

เช็กวงจรปิดล่า-ชี้หวังผลการเมือง

หลังเกิดเหตุ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. ก็เข้ามาควบคุมการสืบสวนสอบสวนด้วยตัวเอง โดยระดมทีมสืบสวนสอบสวนฝีมือดี ประกอบด้วย พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผบก.สพฐ. พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบก.สส.บช.น. ร่วมคลี่คลายคดี

พร้อมสั่งการให้สอบปากคำเจ้าหน้าที่เทศกิจ 9 นาย เพื่อตรวจสอบว่าเหตุระเบิดดังกล่าวอยู่ที่จุดใดกันแน่ เป็นเหตุระเบิดภายในถังขยะหรือข้างถังขยะ เพราะบางครั้งพนักงานทำความสะอาด อาจนำสิ่งของไปวางไว้ข้างๆ ก็เป็นไปได้ จึงต้องพิสูจน์ทราบให้ชัดเจน

พร้อมกันนั้นก็กำชับให้เจ้าหน้าที่เอกซเรย์ทุกพื้นที่ในกทม. และรีเอกซเรย์อีกครั้ง เพื่อสกัดกั้นเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้น

ทั้งยังต้องขอความร่วมมือจากประชา ชน ให้ช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบคนแปลกหน้า หรือยานพาหนะ เข้ามาใกล้เคียงที่พักอาศัยของประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการร้านค้า ก็ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นอีก

นอกจากนี้ยังให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด โดยเช็กตลอดเส้นทางถนนราชดำเนินกลางไปจนถึงแยกผ่านฟ้าฯ และสอบปากคำเจ้าหน้าที่กทม. ที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 19.30-24.00 น. ทั้งหมด 14 คน

ทั้งนี้จากกล้องวงจรปิด พบผู้ต้องสงสัยป้วนเปี้ยนอยู่ที่ถังขยะกว่า 200 คน แต่ได้ตรวจสอบคัดกรองเหลือผู้ต้องสงสัย 9 คน ซึ่งได้เรียกตรวจสอบแล้ว 7 คน เหลืออีก 1-2 คน ที่ต้องเรียกมาตรวจสอบ

สำหรับสาเหตุในการลงมือดังกล่าว พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. ด้านความมั่นคง ระบุว่า แม้ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเป็นผู้ที่อยากดัง ที่ไม่หวังดีกับเจ้าหน้าที่และรัฐบาล

เนื่องจากระเบิดเป็นระเบิดแรงดันต่ำ ไม่ประสงค์ต่อชีวิต และเลือกใช้พื้นที่เชิงสัญลักษณ์ก่อเหตุ จึงคาดว่าไม่ใช่การก่อการร้าย อีกทั้งการข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ก็ไม่พบการเคลื่อนไหวที่มีการบอกเหตุ

ย้อนรอยระเบิด 9 จุดปี”50

สำหรับเหตุการณ์บึ้มถล่มกรุงเมื่อปี 2550 ในสมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ หลังการรัฐประหารของคมช. ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

เกิดขึ้นในวันส่งท้ายปีเก่า วันที่ 31 ธ.ค. 2549 จนถึงเช้าวันที่ 1 ม.ค. 2550 รวม 9 จุด มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และได้รับบาดเจ็บ 36 ราย

เริ่มตั้งแต่ครั้งที่ 1 เวลา 18.00 น. วันที่ 31 ธ.ค. 2549 ที่ป้ายรถประจำทางหน้า ภัตตาคารพงษ์หลี ใกล้ห้างเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ท้องที่ สน.พญาไท มีผู้บาดเจ็บ 18 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 2 ราย

2.บริเวณป้อมสัญญาณไฟจราจรสี่แยกสะพานควาย ท้องที่ สน.บางซื่อ มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย เมื่อเวลา 18.00 น. 3.ป้อมจราจรสี่แยกแคราย จ.นนทบุรี เมื่อเวลา 18.00 น. ไม่มีผู้บาดเจ็บ 4.ป้อมจราจรสุขุมวิท 62 ท้องที่ สน.บางนา เวลา 18.05 น. ไม่มี ผู้บาดเจ็บ

5.บริเวณตลาดคลองเตย 2 ชุมชนไผ่สิงห์โต สะพานลอยข้ามถนนพระราม 4 ท้องที่ สน.ท่าเรือ เมื่อเวลา 18.10 น. มีผู้บาดเจ็บ 7 ราย เสียชีวิต 1 ราย 6.ลานจอดรถจักรยานยนต์ ห้างซีคอนสแควร์ ถนนศรีนครินทร์ ท้องที่ สน.ประเวศ เวลา 18.30 น. ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7.บริเวณตู้โทรศัพท์ หน้าห้างเกษรพลาซ่า ตรงข้ามเซ็นทรัลเวิลด์ ท้องที่ สน.ลุมพินี เวลา 00.05 น. มีผู้บาดเจ็บ 10 คน เป็นชาวไทย 2 คน ชาวต่างชาติ 8 คน

8.บริเวณท่าเทียบเรือประตูน้ำเชิงสะพานเฉลิมโลก ตรงข้ามห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ท้องที่ สน.ลุมพินี เวลา 00.01 น. มีผู้บาดเจ็บ 3 คน 9.ที่ร้านบัดดี้ ถนนข้าวสาร เวลา 00.40 น. ไม่ได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ในที่เกิดเหตุมีการพ่นตัวอักษร IRK เพื่อโยงว่าเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นเรื่องของการเมืองภายในล้วนๆ

เป็นการกระทำของกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ทั้งหมด โดยคมช.เองระบุว่าเป็นการกระทำเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล และคมช. ให้เห็นว่ารัฐบาลขณะนั้นไม่สามารถดูแลให้เกิดความสงบและเป็นสุขได้

อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อมูลอีกด้าน ที่ระบุว่าในสภาพการณ์ที่เพิ่งเกิดการรัฐประหาร ไปเมื่อ 19 กันยายน 2549 กลุ่มอำนาจเก่าถูกไล่ล่าจนแทบไม่มีที่ยืน จะไปมีศักยภาพใดๆ ที่จะก่อเหตุพร้อมกันถึง 9 จุดทั่วกรุงเทพฯ ได้

แถมเป็นช่วงคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่เจ้าหน้าที่ตรึงกำลังกันอย่างเข้มงวด

จึงอาจเป็นฝีมือของกลุ่มคนซึ่งได้ประโยชน์จากคณะรัฐประหาร ที่ลงมือสร้างสถานการณ์เพื่อให้สังคมเกิดความสับสน

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อสังเกต เพราะแม้เหตุการณ์ผ่านมาครบ 10 ปีแล้วก็ยังไม่เคยจับกุมผู้ต้องสงสัย หรือผู้กระทำผิดได้เลย

แต่ไม่ว่าจะเป็นฝีมือใคร ก็ต้องถือว่ามีความอำมหิตอย่างยิ่งที่เอาชีวิตประชาชนไม่รู้อีโหน่อีเหน่มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

จึงต้องจับตาดูกันว่าเหตุการณ์บึ้มป่วนกรุงครั้งนี้ จะจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน