คอลัมน์ สดจากสนามข่าว

อรรณนพ เพ็ชรภิมล

เรื่อง/ภาพ

ความสวยงามของท้องทะเล หาดทราย สายลม และแสงแดด แห่งไข่มุกอันดามันที่ชื่อว่า “เกาะภูเก็ต” ที่ขจรขจายออกไปทั่วโลก ส่งผลให้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวนานาชาติต่างขวนขวายมาสัมผัสอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ด้วยภูมิภาคที่ตั้งของเกาะภูเก็ตซึ่งอยู่ในเขตมรสุม ทำให้บางช่วงของปีต้องประสบกับสภาวะคลื่นลมแรงตามสภาพภูมิอากาศ จนเป็นอันตรายต่อการเล่นน้ำทะเลของนักท่องเที่ยว

หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องจัดเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราอย่างใกล้ชิด และหากมีสภาวะที่สุ่มเสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิตของ นักท่องเที่ยว จะปัก “ธงแดง” เตือนห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด

กระทั่งมีผู้เอาชีวิตมาทิ้งไว้เป็นประจำทุกปี

ล่าสุดยังเกิดเหตุนักท่องเที่ยวถูกคลื่นกลืนลงทะเลภูเก็ตถึง 4 วันติดต่อกัน รวม 12 คน ตาย 2 ศพ สาหัส 1 คน

เหตุแรกเกิดขึ้นในช่วงเย็นวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา เมื่อ นายอานนท์ รอดจุ้ย อายุ 26 ปี ชาว ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ทำงานเป็นช่างแอร์อยู่ร้านแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต พร้อมเพื่อนอีก 2 คน พากันไปเล่นน้ำที่หน้าหาดกะรน ช่วงที่คลื่นลมแรงโดยไม่สนใจธงแดงเตือนห้ามเล่นน้ำ ก่อนทั้งหมดจะถูกคลื่นซัดออกนอกฝั่ง

เเต่มีผู้ช่วยไว้ได้ 2 คนนำส่งรักษาที่ร.พ.ป่าตอง จนอาการปลอดภัย ส่วนร่างนายอานนท์นั้นจมหายไป เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง ทัพเรือภาคที่ 3 ประจำศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลกะตะ ค้นหาหลายชั่วโมง กระทั่งพบศพลอยไปติดโขดหินปลายเเหลมไทร ต.กะรน ในวันต่อมา

รุ่งขึ้น เวลา 08.50 น. วันที่ 12 มิ.ย. ก็เกิดเหตุซ้ำสอง เมื่อเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด หน่วยอำเภอกะทู้ กำลังปักธงแดงเตือนห้ามเล่นน้ำบริเวณชายหาดป่าตอง เห็นนัก ท่องเที่ยวหญิงสาวชาวจีน 4 คน พากันลงเล่นน้ำทะเลท่ามกลางคลื่นลมที่บ้าคลั่ง

ด้วยความห่วงใยจึงทั้งเข้าไปเตือนเอง รวมถึงให้กลุ่มผู้ประกอบการเรือลากร่มช่วยเข้าไปตักเตือนห้ามเล่นน้ำในบริเวณดังกล่าว

แต่ทั้งหมดไม่สนใจยังคงเล่นน้ำต่ออย่างสนุกสนาน เพียงไม่กี่นาทีสาวจีนทั้ง 4 คนก็ถูกคลื่นดูดออกกลางทะเลกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ว่ายกลับเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย ส่วนที่เหลือหมดแรงจมหายไป

เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดรีบนำบอร์ดโต้คลื่น พร้อมเจ็ตสกีและเรือของกลุ่มผู้ประกอบการเรือลากร่มออกค้นหาช่วยเหลือทั้งหมดกลับขึ้นฝั่งมาได้ในเวลาไม่นาน

โดย 2 สาวทราบชื่อ น.ส.เผิง คิง และน.ส.หยาง หลี่ มีอาการสำลักน้ำจึงส่งรักษาที่ร.พ.ป่าตอง ทั้งคู่ปลอดภัยดี

ส่วนที่เหลืออีกคนคือ น.ส.หยาง อารัน อายุ 27 ปี หยุดหายใจไปแล้ว เจ้าหน้าที่รีบช่วยปั๊มหัวใจจนฟื้นคืนชีวิตกลับมา ก่อนนำส่งรักษาที่ร.พ.วชิระภูเก็ต

ล่าสุดอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ยังต้องนอนพักในห้องไอซียูโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

วันที่ 13 มิ.ย. 3 หนุ่มชาวจีนก็ถูกคลื่นริมชายหาดกะตะดูดลงทะเล ช่วยกลับมาได้ 2 คน ส่วน นายเว่ย เป่ยซิน อายุ 18 ปี กลายเป็นศพลอยห่างจากฝั่งประมาณ 100 เมตร

ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงคู่ผัวเมียชาวมะกัน นายทอดด์ ไมเคิล อายุ 31 ปี และน.ส.คริสติน่า เอเลน อายุ 28 ปี ก็เกือบกลายเป็นคลื่นทะเลที่หาดสุรินทร์ แต่โชคดีที่ไลฟ์การ์ดช่วยเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัยในวันที่ 14 มิ.ย.

นายสมประสงค์ แสงชาติ หัวหน้าไลฟ์การ์ด หน่วยอำเภอกะทู้ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุขึ้นบ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความเข้มในการตักเตือนนักท่องเที่ยวมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะทำให้มีบางส่วนไม่พอใจ แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของนักท่องเที่ยวเอง

ที่ผ่านมาปัญหาที่พบคือนักท่องเที่ยวไม่สนใจคำเตือน คิดว่าตัวเองว่ายน้ำได้ ว่ายน้ำเก่ง แต่ไม่เข้าใจว่าจุดเสี่ยงที่เตือนนั้นมันอันตรายกว่าที่คิด เพราะมีคลื่นใต้น้ำที่ดูดหมุนวนออกไป หากไม่มีอุปกรณ์ทุ่นแรงอาจจะหมดแรงและจมน้ำเสียชีวิตในที่สุด

กลุ่มนักท่องเที่ยวที่พบฝ่าฝืนธงแดงส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซียและจีนมากที่สุด

สำหรับที่หาดป่าตองมีจุดเฝ้าระวังสังเกตการณ์ ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 6 จุด ตลอด แนวชายหาด แต่ละจุดมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 3-4 คน พร้อมกระดานโต้คลื่น บางจุดมี เจ็ตสกี ไว้ช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายผู้ประกอบการเรือลากร่ม เจ็ตสกี ที่พร้อมช่วยเหลือหากเกิดเหตุร้าย

“อยากฝากเป็นอุทาหรณ์ไปถึงนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้ช่วยประชา สัมพันธ์ไปถึงนักท่องเที่ยวว่าอย่าฝ่าฝืนธงแดงลงเล่นน้ำเป็นอันขาด เนื่องจากเป็นสาเหตุ หลักที่ทำให้เกิดเหตุจมน้ำบ่อยครั้ง” หัวหน้า ไลฟ์การ์ดกล่าวเตือนด้วยความหวังดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน