ฟื้นคดีเฟอร์รารี่ชนตร. หมายจับ‘บอส’3ข้อหา – กลับมาคืบหน้าอีกครั้ง สำหรับคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทหมื่นล้านของตระกูลเจ้าสัวคนดัง

ที่ก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง และตร.ไม่คัดค้าน จนทำให้คดีสิ้นสุด แต่เมื่ออัยการชี้มีหลักฐานเพิ่ม ให้ตำรวจสอบสวนใหม่

ทุกอย่างก็คืบหน้าอย่างรวดเร็ว จนตำรวจขอให้ศาลอนุมัติหมายจับนายวรยุทธอีก 3 ข้อหา ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นคดีเดิมที่เคยสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง

เพิ่มเติมเรื่องคดีเสพโคเคนเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะพบพยานหลักฐานใหม่
เร่งเครื่องถึงขั้นรอส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้อง แล้วประสานออกหมายแดงกับอินเตอร์โพล

ล่าตัวมาดำเนินคดี ในเวลาที่อายุความยังเหลืออยู่ 7 ปี

ขณะที่อีกด้านก็ยังมีข้อกังขาเรื่องพยานเรื่องความเร็วรถ ที่กลับไปกลับมาจนน่าสงสัยเรื่องความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตามทุกอย่างก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ หากจับกุมมาดำเนินคดีได้ ก็จะมีโอกาสพิสูจน์กันในศาล

แฟ้มคดี

จำลองเหตุการณ์

ออกหมายจับบอส 3 ข้อหา

เหตุการณ์ฟื้นคดีของบอส-วรยุทธ อยู่วิทยา เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ร.ต.อ.ภิชาภัช ศรีคำขวัญ รองสารวัตรสอบสวน สน.ทองหล่อ ยื่นขอศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อขอให้อนุมัติหมายจับนายวรยุทธ ใน 3 ข้อหาสำคัญ คือ 1.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายมีผู้ถึงแก่ความตาย

2.ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในทันที และ 3.เสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน)

ซึ่งถือเป็นเหตุต่อเนื่องจากการขับรถเฟอร์รารี่หรูพุ่งชนด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตร.สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555

ทั้งนี้การขอหมายจับเป็นไปตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ที่บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันอีก เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้

ซึ่งพยานหลักฐานใหม่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแนบไปพร้อมกับคำร้องขออนุมัติหมายจับ ก็คือคำให้การของผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนผลการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดที่นำมาจากผู้เชี่ยวชาญ โดยศาลพิจารณาแล้วได้อนุมัติหมายจับทั้ง 3 ข้อหา

โดยหมายจับดังกล่าวมีอายุความ 15 ปี

ขณะที่นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2560 ตำรวจ สน.ทองหล่อ ขอศาลอาญากรุงเทพใต้ ออกหมายจับนายวรยุทธ 2 ข้อหา คือ ขับรถประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย และไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานในทันที

ต่อมาหลังอัยการสั่งให้ตำรวจไปสอบสวนพยานหลักฐานใหม่ เพื่อนำไปประกอบการสั่งคดี ตำรวจจึงไปยื่นขอศาลออกหมายจับใหม่ โดยเป็นการใช้ข้อหาตามหมายจับเดิม และเพิ่มข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) โดยผิดกฎหมาย อีก 1 ข้อหา ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้ว ก็อนุญาตให้เพิกถอนหมายจับเดิมเมื่อปี 2560 และให้ใช้หมายจับใหม่ที่มี 3 ข้อหาดังกล่าวได้

ขณะที่นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การนับอายุความในแต่ละข้อหา จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุคือในปี 2555 จึงทำให้แต่ละข้อหาตามที่ออกหมายจับใหม่มีอายุความไม่เท่ากัน โดยคดีเสพยาเสพติดฯ จะหมดอายุความในปี 2565 ส่วนคดีขับรถโดยประมาทฯ จะหมดอายุความในปี 2570 ส่วนคดีไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือฯ มีอายุความเพียง 5 ปี จึงหมดอายุความไปแล้ว

แฟ้มคดี

บอส อยู่วิทยา

ประสานอินเตอร์โพลล่าตัว

นายประยุทธเปิดเผยอีกว่า สำหรับขั้นตอนต่อไป หลังจากที่ตำรวจทำสำนวนคดีที่สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมเสร็จสิ้นแล้ว อัยการก็จะเร่งนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะทำงานทันที หากพอฟ้องก็จะเร่งรัดเรื่องการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี

ส่วนเรื่องการออกหมายจับสากล เป็นหน้าที่ของตำรวจในการประสานงาน เป็นคนละส่วนกับความรับผิดชอบของอัยการ เว้นแต่จะเข้าสู่ขั้นตอนการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

ทั้งนี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ กำลังทำเรื่องประสานไปยังกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อประสานกับตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพล ดำเนินการติดตามจับกุม พร้อมประสานไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อตรวจสอบการเดินทางเข้าออกประเทศของนายวรยุทธ

ล่าสุดสอบปากคำพยานไปแล้ว 5 ปาก ทั้งบุคคลที่ให้ความเห็นเรื่องการคำนวณความเร็วรถยนต์ที่นายวรยุทธขับชนดาบตำรวจเสียชีวิต และเจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ส่วนหลักฐานที่นำไปสู่การขอศาลออกหมายจับในข้อหาเสพโคเคนนั้น มีพยานหลักฐานที่พบว่าเป็นการเสพโคเคนเข้าไปโดยตรง ไม่ได้เกิดจากการรับประทานอาหารหรือยา หรือสารที่ใช้ทำทันตกรรมตามที่นายวรยุทธอ้าง จนเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีคนเดิมไม่แจ้งข้อหาดังกล่าว

ด้านพล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. ระบุว่า หมายจับเดิมของศาลได้มีการยกเลิกและถอนหมายจับออกไปเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หมายจับเก่าจึงสิ้นสุดลงตามกฎหมาย

ขณะที่ผกก.สน.ทองหล่อ ประสานมายัง สตม. และมีหนังสือส่งหมายจับใหม่ดังกล่าวมาให้ สตม. เข้าระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สตม.จึงมีสั่งการให้นำหมายจับดังกล่าวลงในระบบเทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมืองทันที เพื่อเฝ้าดูและเฝ้าระวังในระบบของการตรวจเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยอย่างเข้มงวดตามช่องทางที่กำหนดไว้ของประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งทางบกทางน้ำและทางอากาศ

พล.ต.ต.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ ผบก.ตท. กล่าวว่าในส่วนของกองการต่างประเทศได้รับหนังสือจาก สน.ทองหล่อ ดังนั้นเมื่อมีผู้ต้องกระทำความผิดทางคดีอาญา และหลบหนีออกไปยังต่างประเทศโดยไม่แน่ชัดว่าหลบหนีไปอยู่ในประเทศใด จะต้องประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ ประสานงานกับตำรวจ ประสานงานของต่างประเทศที่ประจำในสถานทูตต่างๆ และขั้นตอนการประสานกับตำรวจสากลโดยจะมีช่องทางในการแจ้งหลายอย่าง เพื่อจะออกหมายแดง สืบหาแหล่งที่อยู่บุคคลที่หลบหนีให้ควบคุมตัวเพื่อจะนำตัวกลับมาดำเนินคดีตามช่องทางผู้ร้ายข้ามแดน

ทั้งนี้เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหารายนี้กองการต่างประเทศจะรีบทำคำร้องไปยังสำนักงานตำรวจสากลเพื่อออกหมายแดงในการประกาศสืบจับผู้ต้องหาต่อไป

แฟ้มคดี

ทนายดังโต้

‘ทนายดัง’แย้งรื้อคดีไม่ได้

ขณะที่ความเห็นอีกด้าน นายสุกิจ พูนศรีเกษม ทนายความชื่อดัง แถลงให้ข้อมูลว่า การรื้อคดีใหม่ในชั้นคดีสอบสวนไม่สามารถทำได้ และวอนขอให้ประเทศไทย คืนพาสปอร์ตให้ เพื่อกลับประเทศ

โดยระบุว่าคดีนี้ตั้งแต่ต้นมาจนถึงตอนที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ทำตามพยานหลักฐานตลอด ศาลทำตามขั้นตอน ศาลไม่สามารถจะออกหมายจับใครได้ง่ายๆ ซึ่งตามจริงแล้ว นายวรยุทธ ก็ชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวของด.ต.วิเชียร รวมถึงทำบุญตามวัตถุประสงค์ของด.ต.วิเชียร ด้วยการสร้างโบสถ์

หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และการเปรียบเทียบร่องรอยการชนจากเจ้าหน้าที่ที่มีความน่าเชื่อถือ สรุปความเห็นว่าความเร็วที่ขับมานั้นไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนที่สังคมตั้งข้อสังเกต ความเร็วรถเกินกว่า 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นที่ทราบกันดีว่า โครงรถเบาบางและฉีกง่าย ซึ่งชนไปแค่นิดเดียว รถก็บุบได้

อีกทั้งยังมีพยานที่ให้การในสำนวนว่ามีการเปลี่ยนเลนของจักรยานยนต์จากช่องการเดินรถซ้ายสุดมาขวาสุดกะทันหัน จนเกิดการเฉี่ยวชนก่อนถึงจุดกลับรถซอยสุขุมวิท 49

ไม่เท่านั้นยังมีพยานเรื่องความเร็วรถที่กลับไปกลับมาจาก 177 ก.ม.ต่อชั่วโมง มาเป็นไม่ถึง 80 ก.ม.ต่อชั่วโมง แล้วก็กลับอีก จนน่าสงสัยเรื่องความน่าเชื่อถือ

ดังนั้นหากจะสอบสวนก็ต้องใช้พยานผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งนี้หากมีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่ มองว่าไม่สามารถรื้อได้อยู่แล้ว แต่การตั้งคณะทำงานและตั้งคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ขึ้นมา เป็นเพียงการตั้งขึ้นมา เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ โดยเหตุที่รื้อมาก็เพราะว่าความเห็นของประชาชน จึงอยากฝากบอกว่าอย่าเอาเสียงของประชาชนมาทำลายกระบวนการยุติธรรม

“คดีนี้เป็นคดีการเมือง ไม่ใช่คดีอุบัติเหตุทั่วไป ส่วนใครอยู่เบื้องหลังนั้น ก็ทราบกันอยู่แล้ว มองว่าบอส ถูกกลั่นแกล้ง จากการติดตามข่าวสารของบอสที่อยู่ต่างประเทศ ก็รู้ว่าบอสอยากจะกลับมาที่ประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ คืนพาสปอร์ต ให้เขากลับมาที่ไทย ใช้ชีวิตเหมือนผู้บริสุทธิ์ทั่วไป ผมจึงอยากขอความเป็นธรรมให้บอส อย่ารังแกกัน”

นอกจากนี้การที่ตำรวจร้องขอให้ออกหมายจับโดยเพิ่มเติมข้อกล่าวหาเสพโคเคนในคดีเดิม ทั้งอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว มีแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้เป็นทำนองว่าเมื่อพนักงานอัยการหรือตำรวจ มีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว จะกลับมาเปลี่ยนแปลงความเห็นเดิมเป็นคำสั่งฟ้องอีกไม่ได้ เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา 1821/2557

สังคมต้องเคารพในกติกาสากล ไม่ใช่กดดันการทำงานของกระบวนการยุติธรรม กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ หากทำตามกระแสสังคมก็จะมีการแจ้งความไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เป็นอีก 1 ความเห็นของคดีดังในวันนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน