คอลัมน์ สดจากสนามข่าว

โครงการบ้านปูลารายอ กาแลตาแป หรือบ้านกึ่งวิถีมุสลิมแห่งแรก ณ บ้านปูลารายอ กาแลตาแป อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เกิดขึ้นจากเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชร กิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้เสด็จเปิดโครงการกำลังใจฯ ณ เรือนจำจังหวัดนราธิวาส

และพระราชทานแนวทางในการดูแลผู้ต้องขังที่พ้นโทษแต่ยังไม่มีสถานที่พัก หรือไม่มีบ้านที่จะกลับ หรือบ้านยังไม่พร้อมที่จะรองรับผู้ต้องขัง

โดยเฉพาะผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่เป็นชาวมุสลิม สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดนราธิวาสได้เสนอว่ามีพื้นที่และบ้านที่สามารถพัฒนาให้เป็นบ้านกึ่งวิถีได้ จึงเป็นที่มาของบ้านกึ่งวิถีกาแลตาแป จังหวัดนราธิวาส

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เป็นประธานโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามผลการดำเนินงานบ้านปูลารายอ กาแลตาแป

โดยมีนางดวงจันทร์ ทองขาว ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ นายมูฮามัดดือราฟี สะมะแอ ประธานชุมชนกาแลตาแป พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารจัดการสถานที่เพื่อให้การสงเคราะห์ บ้านปูลารายอ กาแลตาแป ตลอดจนภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่เข้าร่วม

อธิบดีกรมคุมประพฤติเปิดเผยว่า ผู้ถูกคุมประพฤติหรือผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้ว ก็อยากได้รับโอกาสกลับมาใช้ชีวิตในชุมชนหรือบ้านเกิดของตัวเองได้อย่างปกติสุขโดยไม่ถูกรังเกียจ แต่การจะลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ประการแรกคือการแก้พฤตินิสัยของผู้ต้องขังและผู้ถูกคุมประพฤติ ต่อมาคือการเปลี่ยนทัศนคติของชุมชน ซึ่งเป็นงานท้าทายความสามารถของกรมคุมประพฤติและกรมราชทัณฑ์

ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้ชุมชนและผู้ต้องขังที่พ้นโทษอยู่ร่วมกันได้ผสมผสานกันไปผ่านการทำกิจกรรมหรืออาชีพ ร่วมกัน ใช้เป็นสถานที่สงเคราะห์ผู้ถูกคุมประพฤติและผู้ต้องขังพ้นโทษที่ยังไม่มีสถานที่พัก หรือไม่มีบ้านที่จะกลับ หรือครอบครัวที่บ้านยังไม่พร้อมรองรับผู้พ้นโทษ

โดยใช้พื้นที่เกาะกลางน้ำขนาดเล็กๆ ริมแม่น้ำบางนรา ในชุมชนกาแลตาแป อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งชุมชนจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลความเรียบร้อยของบ้าน และปรับพฤติกรรมของเด็กด้วยการเริ่มต้นเป็นเพื่อนกับเด็กๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจ โดยเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติจะมาช่วยในการถอดบทเรียนอีกทอดหนึ่ง

บ้านกาแลตาแปสามารถรองรับผู้เข้ามาอยู่ได้ 20 คน แต่ไม่เกิน 30 คน และนับตั้งแต่เปิดบ้านอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีผู้ผ่านเข้าบ้านกาแลตาแปแล้ว 25 คน ส่วนใหญ่ทยอยออกจากบ้านกลับไปประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงครอบครัว

แต่ยังเหลือผู้ที่อยู่ในบ้านอีก 6 คน สำหรับผู้ที่สามารถเข้ามาพักจะรับเฉพาะผู้ชายและต้องมีคุณสมบัติเป็น ผู้ถูกสืบเสาะและพินิจ, ผู้ถูกคุมประพฤติหรือพ้นจากการ คุมประพฤติ, ผู้ได้รับการปล่อยตัวเมื่อพ้นโทษหรือได้รับพระราชทานอภัยโทษ ภายในสามจังหวัดภาคใต้

ขณะที่นายสามารถ ละกะเต็บ พนักงานคุมประพฤติชำนาญการ เปิดเผยว่า บ้านกึ่งวิถีจะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 4 เดือน หากไม่พอใจหรือยังไม่พร้อมกลับบ้าน กรรมการชุมชนจะพิจารณาให้อยู่ต่อได้ตามสมควร เพื่อพัฒนาตัวเองให้พร้อม แต่ถ้ากลับไปบ้านแล้วยังมีโอกาสเสพยาก็อาจจะเชิญให้กลับมาอยู่ที่บ้านอีกครั้ง เป็นการช่วยให้สุดสายป่าน ไม่ใช่แค่จบหลักสูตรแล้วปล่อย ก็จะถูกจับกลับมาอีก ทำงานช่วงแรกท้อ เพราะชาวบ้านต่อต้านบอกว่าเอาคุกมาไว้ในชุมชน แต่ด้วยความจริงใจก็สามารถลดความหวาดระแวงลงได้

นายมูฮามัดดือราฟี สะมะแอ (แบหวัง ผู้จัดการบ้าน) หนึ่งในผู้นำชุมชนกาแลตาแป ซึ่งรับบทเป็นผู้จัดการบ้าน กล่าวถึงเบื้องหลังการเชื่อมระหว่างชุมชนกับผู้ต้องขังที่พ้นโทษว่า ช่วงแรกชาวบ้านต่อต้านมาก ตนและเจ้าหน้าที่ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นพยายามทำความเข้าใจให้เห็นว่าชุมชนจะมีโอกาสพัฒนาอาชีพร่วมกัน ทำประชามติไปหลายครั้งจนชาวบ้านยินยอม

ทางด้านนายเคส (สงวนชื่อจริง) หนึ่งในผู้พ้นโทษที่เลือกเข้ามาอยู่ที่บ้านมีปูลารายอ เผยว่า บ้านเดิมอยู่ อ.รามัน จ.ยะลา อาชีพก่อสร้างรับงานมาแล้วบางครั้งทำไม่ทันก็ต้องพึ่งยาบ้า ซึ่งหาซื้อง่ายมาก คนขายจะเดินเข้าหากลุ่มคนทำงาน ช่วงแรกๆ ใช้ยาสามารถช่วยให้ทำงานได้ 24 ช.ม.

แต่หลังๆ ถ้าไม่ใช้ยาก็ทำงานไม่ได้ เงินก็หมดไปกับการซื้อยา ใช้ยามา 5-6 ปี จนในที่สุดอาการหนักไม่สามารถทำงานได้ มีอารมณ์ฉุนเฉียว ทำร้ายคนอื่น

ถูกจับส่งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดปัตตานี พอพ้นโทษเลยตัดสินใจมาอยู่ที่บ้านฯ 8-9 เดือนแล้ว ได้ไปเรียนช่างเชื่อมกับครูข้างนอก ลองเรียนเกษตรเพาะเห็ดก็พอทำได้ ก่อนหน้านี้เคยกลับไปอยู่บ้าน 2 เดือน แต่มีปัญหาและครอบครัวอยากให้อยู่ที่นี่ทบทวนตัวเองปรับตัวให้ได้ก่อน ถ้าออกไปแม้จะมีงานให้ทำก็กลัวว่าจะเจอกับสภาพแวดล้อมเดิมอีก จึงขอกลับเข้ามาอยู่ที่บ้านฯ อีกครั้ง ตนเชื่อว่าใจที่หนักแน่นเข้มแข็งจะทำให้ผ่านอุปสรรคไปได้ ยืนยันไม่กลับไปเสพยาอีกแน่นอน

ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การใช้วัดเป็นบ้านกึ่งวิถี จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้พ้นโทษที่เป็นมุสลิมได้ บ้านกึ่งวิถีปูลารายอที่เกิดมาเพื่อชาวมุสลิม จึงตอบโจทย์ ได้เป็นอย่างดี

ชาญพงษ์ บุญอุทิศ
เรื่อง/ภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน