เป็นอีก 1 คดีประวัติศาสตร์ของประเทศ ไทยที่ยังรอการคลี่คลาย แม้จะผ่านมานานกว่า 7 ปีแล้วก็ตาม

สำหรับการเคลื่อนกำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชา ธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เมื่อปี 2553

พร้อมประกาศเขตกระสุนจริง ใช้พลซุ่มยิง จนมีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันคน

และมาถึงวันนี้ คดีดังกล่าวยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือการไต่สวนด้วยศาลสถิตยุติธรรม

ด้วยเหตุผลทางเงื่อนไขของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการยกคำร้องของป.ป.ช. โดยชี้ว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ

ขณะที่คำฟ้องต่อศาลอาญา ก็พิจารณาถึงชั้นฎีกา ยกคำร้อง

อย่างไรก็ตามยังคงมีแสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์ เมื่อรายละเอียดของศาลฎีการะบุว่าการดำเนินคดีเรื่องนี้เป็นอำนาจของป.ป.ช.

ซึ่งถือว่าผูกพันกับทุกองค์กร

จึงนำมาสู่การยื่นอัยการสูงสุดเพื่อนำสำนวนส่งให้ป.ป.ช. ฟื้นคดี 99 ศพ

พร้อมทั้งหลักฐานใหม่ เพื่อเอาตัวคนสั่งฆ่ามาดำเนินคดี

คืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย

ยื่นหลักฐานใหม่ฟื้น 99 ศพ

แม้คดีนี้ยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลได้ แม้จะผ่านแล้ว 7 ปีก็ตาม แต่ญาติของเหยื่อ 99 ศพ และกลุ่มนปช. ก็ยังไม่หมดความพยายาม

โดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ระบุว่า ต้องทวงถามความยุติธรรมให้ประชาชนมือเปล่า ที่ถูกอาวุธสงครามยิงตายกลางเมืองหลวง เพราะคนตายพูดไม่ได้ คนเป็นจึงต้องเรียกร้องความเป็นธรรมให้ หมาแมวถูกฆ่า ยังมีคนเรียกร้องความเป็นธรรม ชีวิตคนเป็นร้อย จะปล่อยให้เป็นวิญญาณ คับแค้นไม่ได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ทนายความและญาติผู้เสียชีวิต ได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด พร้อมระบุว่าจากการพิจารณาคำสั่งศาลฎีกา ไม่ได้ตัดสินให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ พ้นจากความผิด เพียงแต่วินิจฉัยว่าอยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาย่อมผูกพันคู่ความ คือโจทก์ และจำเลย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นอสส. ป.ป.ช. จึงจะยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด เพื่อส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ไต่สวนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

พร้อมเปิด 3 หลักฐานใหม่ให้ป.ป.ช. พิจารณา

ประกอบด้วย 1.คำพิพากษาศาลฎีกา 2.สำนวนการสอบสวนและคำสั่งฟ้องข้อหาเจตนาฆ่าของอัยการสูงสุด และ 3.สำนวนการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2555-2557 ศาลอาญามี คำสั่งในการไต่สวนความตายว่าเกิดจากกระสุนของฝั่งเจ้าหน้าที่ 17 ศพ

ประกอบด้วย 1.นายพัน คำกอง ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พ.ค.2553 หน้าคอนโดฯ ไอดีโอ ใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ 2.นาย ชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พ.ค.2553 หน้าปั๊มเชลล์ ถ.ราชปรารภ 3.นายชาติชาย ชาเหลา ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 13 พ.ค.2553 หน้าอาคาร อื้อจือเหลียง ถ.พระราม 4

4.ด.ช.คุณากร หรือ อีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ซ.หมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถ.ราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.2553

5..พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 28 เม.ย.2553 หน้าอนุสรณ์สถาน ถ.วิภาวดีรังสิต ศาลมีคำสั่งว่า เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่

6.นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิตาลี ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 19 พ.ค.2553 ถ.ราชดำริ ศาลมีคำสั่งว่าถูกยิงด้วยกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

เปิดช่องญาติฟ้องเองได้

7.นายรพ สุขสถิต 8.นายมงคล เข็มทอง 9.นายสุวัน ศรีรักษา 10.นายอัฐชัย ชุมจันทร์ 11.นายอัครเดช ขันแก้ว และ 12.น.ส.กมนเกด อัคฮาด ถูกยิงเสียชีวิตหน้าวัดปทุมวนาราม ถ.พระราม 1 วันที่ 19 พ.ค.2553 ศาลมีคำสั่งว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่มีวิถีกระสุนมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนราง รถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และบริเวณถนนพระรามที่ 1 โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

13.นายจรูญ ฉายแม้น และ 14.นายสยาม วัฒนนุกูล ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 10 เม.ย. 2553 หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ดินสอ ศาลมีคำสั่งว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่มีวิถีกระสุนมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็น ผู้ลงมือกระทำ

15.นายถวิล คำมูล ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 19 พ.ค.2553 บริเวณป้ายรถแท็กซี่ข้างรั้วสวนลุมพินี ถ.ราชดำริ ศาลมีคำสั่งว่า ถูกวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้ลงมือกระทำอันเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่

16.นายนรินทร์ ศรีชมภู ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 19 พ.ค.2553 บริเวณทางเท้าหน้าคอนโดฯ บ้านราชดำริ ถ.ราชดำริ ใกล้แยกสารสิน ศาลมีคำสั่งว่า วิถีกระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในการเข้าควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งไปทางแยกราชดำริ ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ

17.นายเกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงเสียชีวิตเป็นศพแรกในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ศาลมีคำสั่งว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งมีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฏิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่ จากทางด้านแยกสวนมิสกวัน ผ่านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ มายังสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตามคำสั่งของศอฉ. โดยไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ

หากไม่มีข้อผิดพลาด การไต่สวนการตายทั้งหมดจะถูกนำขึ้นพิจารณา ในฐานะหลักฐานใหม่ ที่ป.ป.ช.ยังไม่เคยพิจารณา มาก่อน

นอกจากนี้ยังคงมีแนวทางให้ญาติผู้ สูญเสียยื่นฟ้องศาลอาญาได้เอง แต่ขอบเขตการเอาผิดก็จะอยู่เฉพาะตัวบุคคลที่กระทำ ไม่ได้ครอบคลุมถึงผู้สั่งการ

แต่ก็ไม่น่ามีปัญหา เนื่องจากการไต่สวนระบุไว้ชัดเจนว่าใครคุมกำลัง ที่ไหน เมื่อไหร่

หวังว่าจะกลายเป็นแนวทางที่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย

ฟื้นคดี 99 ศพขึ้นมาใหม่!!

ย้อนปมคดีเลือดปี”53

สำหรับคดี 99 ศพนั้นมีที่มาจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนปช.เมื่อปี 2553 โดยมีจุดประสงค์เรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน โดยจัดการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่เดือนมี.ค. ก่อนจะแยกเวทีอีกแห่งที่สี่แยกราชประสงค์

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ออกคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็น ผู้อำนวยการ

จนกระทั่งวันที่ 10 เม.ย.2553 จนท.ทหาร เคลื่อนกำลังพร้อมอาวุธสงคราม เข้าขอคืนพื้นที่ที่แยกคอกวัว ส่งผลให้เกิดผู้เสียชีวิตหลายราย รวมทั้ง นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น

ต่อมานปช.ยุบรวมไปชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เพียงแห่งเดียว

ขณะนั้นมีการเสนอแผนปรองดองหลากหลายแนวทาง แต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ดำเนินการตามที่ตกลง

จนกระทั่งวันที่ 14-18 พ.ค.2553 เจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมพลซุ่มยิง ภายใต้การสั่งการของศอฉ.เข้าปิดล้อมพื้นที่ชุมนุม ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งน้องเฌอ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ เด็กนักเรียนวัย 17 ที่ถูกยิงที่ถนนราชปรารภ ติดซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.

สุดท้ายคืนวันที่ 18 พ.ค. กลุ่มส.ว.เลือกตั้งที่เสนอตัวเป็นคนกลางเข้าเจรจากับแกนนำนปช. ภายในตู้คอนเทนเนอร์หลังเวที แต่ไม่มีข้อสรุป เนื่องจากมี “ใบสั่ง” ให้ยกเลิกการเจรจา

เช้าตรู่วันที่ 19 พ.ค. กำลังทหารและรถหุ้มเกราะก็เข้ายึดพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ มีคนตายอีกหลายคน อาทิ ฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิสระชาวอิตาลี ที่ถูกยิงบนถนนราชดำริ

รวมทั้ง 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ทั้งอาสาพยาบาล และจนท.กู้ภัย ที่ถูกกระหน่ำยิงอย่างโหดเหี้ยมเข้าไปภายในวัด

หลังเลือกตั้งปี 2554 รัฐบาลขณะนั้นเร่งสอบสวนคลี่คลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการนำเรื่องยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้พิจารณาการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ของนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น

โดยป.ป.ช.มีมติ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2558 ก่อนวันหมดวาระของป.ป.ช.บางคน ให้ยกฟ้องทั้ง 3 โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ

การสั่งใช้อาวุธจริงเพื่อป้องกันตัวจึงเป็นไปตามหลักสากล

ขณะที่การยื่นฟ้องศาลอาญา ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่า ผู้อื่นโดยเจตนา

กรณีสั่งสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้นายพัน คำกอง และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา เสียชีวิตใกล้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ บาดเจ็บ

คดีนี้ศาลฎีกายืนตามชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์ ไม่รับคำฟ้อง เหตุเพราะเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ต้องอยู่ในอำนาจการพิจารณาของป.ป.ช. และต้องส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ยืดเยื้อกันมา 7 ปี และคงยืดเยื้อต่อไปจนกว่าจะมีความยุติธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน