คุกตลอดชีวิต‘บรรยิน’

อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา

หวังต่อรองพลิกคำตัดสิน

ลุ้นต่อชั้นอุทธรณ์-ฎีกา

คอลัมน์ แฟ้มคดี

คุกตลอดชีวิต‘บรรยิน’ – ถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์อีกคดีหนึ่ง สำหรับกรณีที่ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.หลายสมัยและรัฐมนตรี บุกอุ้มพี่ชายผู้พิพากษาไปจากหน้าศาล

ก่อนนำตัวไปคุมขังเพื่อต่อรองคดีให้น้องสาวที่เป็นผู้พิพากษา ยกฟ้องในคดีโอนหุ้นของเสี่ยชูวงษ์ แซ่ตั๊ง มูลค่ากว่า 300 ล้านบาทให้กับพริตตี้สาว

อีกทั้งยังทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต เอาศพไปเผาป่น แล้วโยนทิ้งแม่น้ำอำพราง

โดยก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.บรรยิน ให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี ก่อนจะกลับคำให้การมาเป็นรับสารภาพ

และมีบทสรุปจากคำพิพากษาของศาล ที่ตัดสินลงโทษประหารชีวิต พ.ต.ท.บรรยิน แต่เห็นจากการรับสารภาพ ทำให้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

คุกตลอดชีวิต‘บรรยิน

เก็บหลักฐาน

ขัดแย้งกับความเห็นของอธิบดีผู้พิพากษา ที่ให้ความเห็นว่าควรลงโทษด้วยการประหารชีวิตสถานเดียว

เป็นความเห็นที่ต้องเสนอต่อศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาพิจารณาต่อไป

ซึ่งต้องติดตามดูว่า เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดจริงๆ จะมีบทสรุปอย่างไร

ศาลตัดสินคดีอุ้มฆ่าผู้พิพากษา

วันที่ 15 ธ.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ และ น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอาญากรุงเทพใต้ อดีตเจ้าของสำนวนโอนหุ้น เสี่ยชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หมายเลขดำ อท.69/2563 เป็นโจทก์ร่วม

ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 56 ปี อดีต รมช.พาณิชย์, นายมานัส ทับทิม อายุ 67 ปี, นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์ อายุ 48 ปี, นายชาติชาย เมณฑ์กูล อายุ 31 ปี, นายประชาวิทย์ หรือ ตูน ศรีทองสุข อายุ 33 ปี และ ด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.อ๊อด วจีสัจจะ อายุ 63 ปี ทั้งหมดภูมิลำเนา จ.นครสวรรค์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดอุ้มฆ่านายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ พี่ชายของ น.ส.พนิดา

คุกตลอดชีวิต‘บรรยิน

ทำแผนหน้าศาล

โดยโจทก์บรรยายเกี่ยวกับพฤติการณ์ความผิดของจำเลยที่ร่วมปฏิบัติการอุ้มนายวีรชัยเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 แล้วข่มขู่ผ่านโทรศัพท์ให้ น.ส.พนิดา ผู้พิพากษาคดีโอนหุ้นนายชูวงษ์ ให้ยกฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน กับพวกที่เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว โดยมีการต่อยนายวีรชัยจนเสียชีวิต และนำศพไปเผาอำพรางคดี

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความ พยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้ว มีคำพิพากษาว่าการกระทำของ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ ให้ลงโทษประหารชีวิต

แต่จำเลยที่ 1 ให้การรับข้อเท็จจริงบางส่วนนับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว

ให้นับโทษจำคุกตลอดชีวิตในคดีนี้ ต่อจากโทษจำคุกคดีโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ของศาลอาญากรุงเทพใต้

นายมานัส จำเลยที่ 2 มีความผิดเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำ ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่จำเลยที่ 2 ให้การรับข้อเท็จจริงบางส่วน นับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน

นายณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว นายชาติชาย จำเลยที่ 4 และนายประชาวิทย์ จำเลยที่ 5 ลงโทษประหารชีวิต แต่ให้การรับข้อเท็จจริงบางส่วน คงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว

ด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.อ๊อด จำเลยที่ 6 ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 6 ให้การรับข้อเท็จจริงบางส่วน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต

ย้อนปมเหตุโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์

สำหรับชนวนเหตุของคดีโหดครั้งนี้เกิดจากการที่ พ.ต.ท.บรรยิน เข้ามามีส่วนพัวพันกับการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ โดยเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558 นายบรรยินขับรถเลกซัส ทะเบียน 1889 กทม. ของนาย ชูวงษ์ โดยมีนายชูวงษ์นั่งมาด้วย พุ่งชนต้นไม้ ที่ฝั่งตรงข้ามซอย 61 ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แขวงและเขตสวนหลวง กทม.

นายชูวงษ์เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ตรงเบาะข้างคนขับในสภาพหัวมุดเข้าไปในคอนโซล แต่ พ.ต.ท.บรรยินไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

เบื้องต้นคิดว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่เมื่อญาติผู้ตายยื่นเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนเพราะเชื่อว่าเป็นฆาตกรรมอำพราง เพราะผลชันสูตรของนิติเวชพบว่ามีอาการสมองบวม ซี่โครงหักหลายซี่ ไม่ใช่คอหักตายเหมือนที่โรงพยาบาลระบุ

อีกทั้งมีประเด็นว่าก่อนตายมีการโอนหุ้นแบบผิดปกติให้กับ น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล พริตตี้สาว และ น.ส.ศรีธรา พรหมา แม่ของ น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล อายุ 26 ปี มูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท

จนเป็นคดีฟ้องสู่ศาลและอยู่ในการพิจารณาของ น.ส.พนิดา จึงตัดสินใจบุกอุ้มนายวีรชัย เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 เพื่อข่มขู่ต่อรองคดีกับน.ส.พนิดา

โดย พ.ต.ท.บรรยินแต่งชุดตำรวจไปดักรอนายวีรชัยที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ แล้วล็อกตัวนายวีรชัย จากหน้าศาลขึ้นรถโตโยต้า สปอร์ตไรเดอร์ เพื่อนำตัวไปยัง จ.นครสวรรค์ ระหว่างทางนายวีรชัยดิ้นรนขัดขืนการควบคุมตัวนายณรงศักดิ์ที่นั่งอยู่เบาะหน้าคู่กับ พ.ต.ท.บรรยินจึงหันไปต่อยนายวีรชัยให้หยุดการดิ้นรน แต่เป็นเหตุให้นายวีรชัยถึงแก่ ความตาย

คุกตลอดชีวิต‘บรรยิน

กระดูกพี่ผู้พิพากษา

จากนั้นจึงนำศพนายวีรชัยไปเผาเพื่อทำลายที่บริเวณเขาใบไม้ อ.ตาคลี ก่อนขับรถนำเถ้ากระดูก สังกะสี เศษยางรถยนต์ อิฐบล็อก ไปทิ้งตามจุดต่างๆ คือ ริมถนนข้างทางใกล้หมู่บ้านนิคมเขาบ่อแก้ว บริเวณใกล้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่บ้านกลางแดด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จริง

ส่วนนายณรงค์ศักดิ์เป็นผู้นำโทรศัพท์ กระเป๋าสตางค์ของ นายวีรชัย และแผ่นป้ายทะเบียนรถไปทิ้งที่แม่น้ำปิงผู้เดียว

คุกตลอดชีวิต‘บรรยิน

บรรยิน ตั้งภากรณ์

พ.ต.ท.บรรยินระบุว่า ที่ลงมือเพราะเห็นว่า น.ส.พนิดา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในคดีอาญาของศาลอาญากรุงเทพใต้ ทำหน้าที่อย่างลำเอียง ขาดความเที่ยงธรรม และมีอคติกับตน ในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวโดยตลอด ทำให้เกิดความกดดันและขาดสติยั้งคิดจึงได้กระทำความผิดในคดีนี้

อธิบดีเห็นแย้งต้องประหาร

ขณะที่นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาขององค์คณะผู้พิพากษาสำนวนคดีนี้ไว้แนบท้ายตอนหนึ่ง ระบุว่า พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีมูลเหตุจูงใจมาจากจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ โดย น.ส.พนิดา โจทก์ร่วมไม่บันทึกคำพยานที่สำคัญที่ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกซักถามหรือถามค้านพยาน เมื่อจำเลยที่ 1 กับพวกยื่นคำร้องคัดค้านขอถอนโจทก์ร่วมออกจากการเป็น ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีฯ พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกา เพื่อคัดค้าน ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ประธานศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กรณีมิใช่เหตุที่จะคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน จึงไม่มีเหตุโอนสำนวน และมีคำสั่งให้ยุติเรื่อง

ซึ่งในกรณีเช่นนี้หาใช่ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกจะหมดหนทางที่จะได้รับความเป็นธรรม โดยจำเลยที่ 1 อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาสืบพยานในประเด็นคำพยานที่อ้างว่ามีความสำคัญนั้น หากศาลไม่อนุญาตก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา โดยขอให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิจารณามีคำวินิจฉัยให้สืบพยานในประเด็นคำพยานที่อ้างว่ามีความสำคัญนั้นได้

จำเลยที่ 1 เคยรับราชการตำรวจยศ พ.ต.ท. เป็น ส.ส. และรัฐมนตรี แต่กลับใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายเพื่อให้เจ้าพนักงานปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง สมควรลงโทษในสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และเป็นการป้องปรามมิให้มีการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้อีก

คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1-2 และ 4-6 เพราะจำนนต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏจากภาพกล้องวงจรปิด ข้อมูลจากพยานบุคคลต่างๆ ที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ รวมทั้งข้อมูลจากรายงานการสืบสวนและพยานหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวน ฝ่ายจำเลยได้ตรวจสอบและขอคัดถ่ายในชั้นตรวจพยานหลักฐานของศาล ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษที่จะลดโทษให้

ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิตสถานเดียว

สำหรับจำเลยที่ 1-2, 4-6 เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้ประหารชีวิตสถานเดียว

เป็นความเห็นแย้งที่ต้องส่งสู่ศาลสูงต่อไป และรอถึงคดีสิ้นสุดว่าจะมีผลอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน