อุ้มหายข้ามปี-คดีฟ้องโลก – เข้าสู่ศักราชใหม่ พ.ศ.2564 ยังมีคดีใหญ่หลายคดียืดเยื้อมาจากปี 2563

หนึ่งในนั้นคือคดีถูกบังคับสูญหาย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ วัย 37 ปี ผู้ลี้ภัยทางการเมือง และ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนประชาธิปไตย และการป้องกันเชื้อเอชไอวีในหลายประเทศ

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

คดีนี้ไม่ได้เกิดในไทย หากส่งผลสะเทือนทางสังคมและการเมืองไทยครั้งใหญ่ในปี 2563 ทั้งยังเป็นประเด็นระดับโลกที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ มีหนังสือทวงถามรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา

การชุมนุมหลายครั้งของกลุ่มเยาวชนและประชาชนเมื่อปี 2563 โปสเตอร์เรียกร้องความยุติธรรมปรากฏภาพใบหน้ายิ้มแย้มของ ต้าร์-วันเฉลิม ขัดกับชะตากรรมที่น่าสะเทือนใจของชายหนุ่ม

ส่วนแฮชแท็ก #saveวันเฉลิม กระจายไปทั่วโลกออนไลน์ พร้อมกิจกรรม “ผูกโบขาวทวงความยุติธรรมให้ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และผู้ลี้ภัยทางการเมือง” ตั้งแต่ช่วงบ่ายของ 9 มิ.ย. 2563

ผู้ชุมนุมทวงถามการหายตัววันเฉลิมที่หน้าสถานทูตกัมพูชาในกรุงเทพฯ

ขณะนี้เวลาผ่านมา 6 เดือนกว่าแล้ว นับจากวันเฉลิมถูกบุคคลไม่ทราบฝ่ายลักพาตัวไปจากที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ชื่อ แม่โขง การ์เดนส์ คอนโดมิเนียม หรือ “แม่โขง คอนโดฯ” เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ขณะเดินมาซื้อลูกชิ้นปิ้งจากร้านรถเข็นที่จอดอยู่ราว 25-30 เมตร จากประตูทางเข้าอพาร์ตเมนต์ที่มีป้อมและพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำการอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง

คอนโดฯ แม่โขง การ์เดนส์ ที่เกิดเหตุ (ภาพบีบีซีไทย)

จากรายงานของบีบีซีไทยที่เดินทางไปสำรวจจุดเกิดเหตุ หลังจากวันเฉลิมสั่งลูกชิ้นแล้ว จึงมานั่งรอที่เตียงเก่าๆ ตัวหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยว ก่อนถูกอุ้มไปจากเตียงเก่า ดังกล่าว เมื่อเวลา 17.54 น. แล้วไม่พบร่องรอยอีกเลย

กลุ่มผู้ลี้ภัยการเมืองในต่างแดนมองว่าการลักพาตัววันเฉลิมคือการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ของผู้มีอำนาจ

วันเฉลิมย้ายไปอยู่พนมเปญ นับจากถูกออกหมายจับโดยทางการไทย จากการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทย

‘เจน’ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม

นับตั้งแต่วันที่ต้าร์หายตัวไป “เจน” สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาว ได้ลุกขึ้นมาทวงหาความเป็นธรรม ความยุติธรรมให้ น้องชาย อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ชีวิตนักธุรกิจพลิกผันมาเป็นนักต่อสู้

เป้าหมายการใช้ชีวิตที่เคยวางไว้ก่อนหน้านี้ล้วนสลายไป!!

จากเมื่อก่อนที่นักธุรกิจหญิงไม่เคยสนใจด้านการเมือง เพียงแค่รับรู้และไม่ได้ใส่ใจมากนัก แต่หลังจากที่น้องหายไปพร้อมกับคำพูดสุดท้ายว่า “โอ๊ยหายใจไม่ออก” พี่สาวของ วันเฉลิมต้องเดินทางไปองค์กรต่างๆ เพื่อยื่นเรื่องขอความ เป็นธรรม

ช่วงท้ายปลายปี สิตานันไปยื่นข้อมูลและหลักฐานต่อศาลแขวงประจำกรุงพนมเปญ เพื่อพิสูจน์ว่าน้องชายเคยอยู่และถูกบังคับให้สูญหายในกัมพูชา หวังให้อัยการส่งฟ้องเป็นคดีอาญาหาผู้ก่อเหตุ

“บางวันยังโมโหน้องตัวเองอยู่เลย ยังนั่งด่าและบ่นว่าแกทำอะไรกับชีวิตฉัน ชีวิตเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปขนาดนี้ เมื่อก่อน เลิกงานจะไปไหนก็ได้ไป วันหยุดได้เที่ยวตามใจเรา แต่การที่ออกมาอย่างนี้มันเสียสละทุกอย่าง ไม่มีเวลาที่จะทำตัวเหมือนเดิมได้อีกแล้ว แม้กระทั่งตอนนี้ที่ไปไหนคนเดียวก็ไม่ได้ เพราะมีคนเตือนว่าอันตราย” สิตานันเล่าให้ฟัง

แผนทุกอย่างพังลง ต้องทิ้งหน้าที่การงาน รวมทั้งทะเลาะกับญาติ และเพื่อนบางคนที่เคยคุยด้วยกลับต้องห่างเหิน เพราะเขาไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่บนถนนแห่งการต่อสู้เส้นทางนี้กลับไม่ได้โดดเดี่ยวและไม่ได้สู้ตามลำพัง

สิตานันกล่าวว่า หลังจากที่น้องหายไป อะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนก็ได้ทำ อย่างเช่นการไปม็อบ ได้รู้จักคนเยอะขึ้น รู้จักองค์กรที่ช่วยเรียกร้องสิทธิและความถูกต้อง รู้จักอาจารย์หลายท่าน สนใจการเมืองมากขึ้น

พี่สาวเดินทางไปยื่นหลักฐานที่ศาลกัมพูชายืนยันน้องถูกบังคับหาย

เดือนแรกที่ออกมาสู้ยอมรับว่ากำลังใจสูญเสียไปมากเพราะมันเป็นคดีที่ยาก แต่อีกมุมหนึ่งก็มีคนเข้ามาให้กำลังใจเราเยอะขึ้น เราก็ดีใจมันทำให้รู้ว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว บางคนไม่รู้จักก็เข้ามาทักทาย ซื้อของมาให้กิน พวกเขาเป็นพลังให้เรามีแรงสู้ต่อไป

“เราไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก มันหดหู่ มันไม่ยุติธรรม มันสะเทือนใจและครอบครัวก็เป็นทุกข์อย่างแสนสาหัสมากโดยเฉพาะแม่ มันเลยทำให้คิดว่าฉันไม่ทำไม่ได้ ยิ่งตอนนี้แกนนำโดนคดีเยอะมาก ก็ต้องออกมาต่อสู้เรื่องกฎหมายให้มันจริงจัง ไม่อยากให้คนพวกนี้สูญหายไปอย่างน้องเราอีก ที่ตัดสินใจทำแบบนี้ไม่ใช่เรียกร้องความยุติธรรมเพื่อวันเฉลิมคนเดียว หรือไม่ใช่เฉพาะแปดรายที่สูญหาย แต่เพื่อคนอื่นๆ ด้วย”

สําหรับคดีนี้เป็นคดีอาญาหมายเลข 4832 ในคดีที่วันเฉลิม ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศไทย ถูกบุคคลใช้อาวุธบังคับขึ้นรถยนต์และหายไป

ภาพจากกล้องวงจรปิดเผยรถยนต์สีดำที่เชื่อว่าอุ้มวันเฉลิมหายไป

เหตุเกิดกลางกรุงพนมเปญ เวลาบ่ายสี่โมงเศษเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 63 จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

สิตานันเล่าย้อนอดีตถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับน้องชายให้ฟังว่า เราสองคนสนิทกันมาก ต้าร์ชอบอ่านหนังสือ ร่าเริง มีนิสัยช่างประจบ รวมทั้งสนใจประเด็นสิทธิและประชาธิปไตย มีความรักในความยุติธรรมสูงมาก ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.6 จนมาเป็นประธานนักเรียนของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี

เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย เขาก็มาเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำให้ตนกับต้าร์ต้องห่างกันแทบไม่ค่อยได้เจอกัน และไม่รู้มาก่อนว่าน้องออกมาเคลื่อนไหวด้านการเมือง

กระทั่งหลังรัฐประหารปี 2557 ต้าร์โทรศัพท์มาบอกแม่ว่า ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไม่ต้องห่วง เธอถึงรู้ว่าน้องชายเป็น นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

จากนั้นผ่านไป 2 ปี สองพี่น้องถึงได้คุยกันอีกครั้งผ่านทางโทรศัพท์และถามสารทุกข์สุกดิบกันแทบทุกวัน อีกทั้งยังได้ไปเจอกัน 2 ครั้งที่ต่างประเทศ เมื่อรู้ว่าต้าร์ถูกอุ้มก็ตกใจและทำอะไรไม่ถูก

“วันแรกที่น้องหายตัวไป แม่เห็นเราร้องไห้ตอนที่คุยกับเพื่อน ของต้าร์ แม่ก็ถามเราว่าไหวไหม ถ้าไม่ไหวก็ไม่ต้องทำไม่มี ใครว่า เลยพูดกับแม่ว่ามันคือน้องและหนูรักมัน เลยบอกแม่ว่าเราต้องทำ และทำให้ถึงที่สุด เราไม่รู้เลยว่าชะตากรรมเขา เป็นยังไง ไม่สามารถมโนได้เลย ยิ่งถ้าเราจินตนาการมันยิ่งสะเทือนใจมันเจ็บปวดมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น” สิตานันสะอื้นและร้องไห้อยู่หลายครั้งระหว่างให้สัมภาษณ์

จนถึงขณะนี้แม้ความหวังจะริบหรี่ แต่พี่สาวของวันเฉลิมกล่าวว่า เราเป็นประเภทที่ถ้าลุกขึ้นสู้แล้วจะไม่มีถอยแน่นอน ในครอบครัวไม่ค่อยอยากคุยกันเรื่องที่น้องสูญหายเพราะมันสะเทือนใจ น้องอีก 2 คนก็อยากออกมาสู้ด้วย แต่แม่ขอไว้เพราะว่ายังทำงานอยู่ไม่อยากให้กระทบ เราเลยอาสาออกหน้าคนเดียว

แต่ตอนนี้น้องชายอีกคนก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวบ้างแล้ว ทั้งไปม็อบและกัมพูชาคนเดียว ครอบครัวเราสู้มากกับเรื่องนี้ เพราะไม่อยากให้มันเงียบ และมันเลยคำว่ากลัวมาแล้ว เราไม่ได้นิ่งนอนใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนหลายคนตื่นตัวและออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายเพิ่มมากขึ้น หลังจากการหายตัวไปของต้าร์ จนนำไปสู่แฮชแท็ก #saveวันเฉลิม และโปสเตอร์ตามหาบุคคลสูญหายที่มีมากมายแทบทุกม็อบ ซึ่งหลายคนยังมองว่า สิตานัน คือหญิงแกร่งที่ออกมาต่อสู้อย่างไม่มีถอย พร้อมพุ่งชนทุกสถานการณ์เพื่อทวงหาความยุติธรรม

ยูเอ็นส่งหนังสือทวงถามการหายไปของวันเฉลิม

แต่สิตานันกลับมองว่า ที่มาถึงได้ทุกวันนี้ ก็ขอบคุณทุกคนถ้าไม่มีคนลุกมาสู้

“เราก็ไม่กล้าลุกขึ้นมาสู้คนเดียว มันกลายเป็นว่ามวลชน ทุกคนลุกขึ้นมาสู้ร่วมกับเราจึงต้องอยู่เคียงข้างเขาเหมือนกัน เป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน เรามองว่าพวกน้องๆ แกร่งและ เข้มแข็งกว่าเราอีก มันทำให้มีวันนี้ได้ก็เพราะว่าทุกคนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องวันเฉลิม”

ขนมวันเกิดของวันเฉลิม ติดสติ๊กเกอร์ ‘saveวันเฉลิม’

แม้ว่าการเคลื่อนไหวด้านการเมืองและด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยของต้าร์ต้องหยุดลง แเต่การเดินทางต่อสู้ด้านนี้ของพี่สาวกำลังเริ่มขึ้น เพียงเพราะไม่ต้องการให้ใครต้องถูกบังคับให้สูญหายอีก

สิตานันกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า จากนี้ไปจะออกมา รณรงค์และจัดกิจกรรมต่างๆ อีกแน่นอน ยังคงเคลื่อนไหว ไม่ยอมแพ้ และจะไม่หยุดจนกว่าจะได้รับความยุติธรรม ไม่ว่าศาลกรุงพนมเปญจะรับทำคดีหรือเขาจะปิดคดีนี้ก็ไม่สน เพราะการที่เราไปรู้อยู่แล้วว่าความหวังของเรามันริบหรี่ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็จะทำต่อแน่นอน

“เพราะคดีนี้ยังไม่จบ และเราคิดว่ามันปล่อยผ่านไม่ได้ เราจะทำให้ดีที่สุด แม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม แล้วให้โลกรู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมคืออะไร ขอบคุณทุกคนที่เป็นกำลังใจให้ครอบครัวเราเสมอมา”

พี่สาวกล่าวทิ้งท้ายในปี 2563 เพื่อเตรียมสู้ต่อในปี 2564

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน