คอลัมน์ สดจากสนามข่าว

รู้จักจเรตำรวจยุค‘บิ๊กหิน’ สร้างความโปร่งใสองค์กร – ที่ผ่านมาสังคมอาจได้ยินการทำงานของจเรตำรวจ จากที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง และหลายคนสงสัยว่างานจเรตำรวจคืองานอะไร

งานจเรตำรวจ ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) มีบทบาทในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจ มีภารกิจหลัก 4 ด้านคือ ด้านการตรวจราชการ เพื่อติดตามผลการทำงาน ด้านการร้องเรียนร้องทุกข์จากประชาชนในการให้ความเป็นธรรมของตำรวจ ด้านระเบียบและจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมตำรวจ และด้านการป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของตำรวจ

ประเดิมงานแรก สอบทุจริตเบี้ยเลี้ยง โควิด-19 พล.ต.อ.วิสนุเปิดเผยว่า งานจเรตำรวจ จำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาทกับสถานการณ์ โควิด-19 นี้ ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกัน โดยหลังเข้ารับตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ ไม่เกินสัปดาห์ เกิดกรณีมีข่าวเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ กรณีมีตำรวจหลายโรงพักร้องว่าถูกอมเบี้ยเลี้ยงจากการร่วมภารกิจสกัดกั้นโควิด-19

ทาง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงสั่งการให้จเรตำรวจแห่งชาติ รีบตรวจสอบและหาตัวผู้กระทำผิด จึงร่วมกับ พล.ต.ท. อดิศร์ งามจิตสุขศรี รองจตช. ตลอดจน พล.ต.ท.เชษฐา โกมลวรรธนะ จเรตำรวจ (หน.) และคณะจเรตำรวจลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง นำไปสู่การดำเนินการทางวินัยตำรวจในสังกัดบช.น และภ.1-9 รวม 23 จังหวัด ทั้งสิ้น 189 นาย

มีระดับ บก. ภ.จว. และระดับ สถานีตำรวจ รวม 73 หน่วย เป็นระดับนายพล 5 นาย รองผบก. 3 นาย ผกก. 45 นาย นอกนั้นเป็นระดับรองผกก. สว. รองสว. และผบ.หมู่ รวม 136 นาย โดยพิจารณาโทษตามแต่มูลเจตนาของผู้กระทำผิดตั้งแต่ เบาไปถึงหนัก

ทั้งกำชับไม่ให้มีการย้ายกลับไปที่เดิมโดยเด็ดขาด ถือเป็นการยืนยันให้สังคมและตำรวจด้วยกันเห็นว่า จเรตำรวจ ทำงานตรงไปตรงมาพึ่งพาได้ ไม่ใช่มีไว้คอยช่วยเหลือพวกเดียวกัน สีเดียวกัน อย่างที่มี ผู้สบประมาทเอาไว้

เช็กบิลปมบ่อนโควิด เรื่องเบี้ยเลี้ยงโควิดยังไม่ทันจางควัน ก็เกิดกรณีมีผู้ติดเชื้อ โควิด-19 จากบ่อนการพนันใน จ.ระยอง ชลบุรี และมีกระแสลามจนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกสังคมรุมประณามว่า เป็นเหตุ ซ้ำเติมการแพร่ จเรตำรวจจึงลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องนี้ ตามคำสั่งท่านผบ.ตร. เพื่อหาข้อเท็จจริง และมีการดำเนินการเข้าสู่กระบวนการทางวินัยและปกครองแก่ตำรวจตั้งแต่ระดับนายพลถึงสารวัตร ขณะนี้ 36 นาย จาก 5 บช.

โดยในจำนวนนี้มีหน่วยงานที่กำลังถูกสืบสวน ข้อเท็จจริงทางวินัยจากคณะกรรมการที่ตั้งจากจเรตำรวจ จำนวน 12 หน่วยงาน เป็นตำรวจระดับนายพล ถึงระดับสารวัตร จำนวน 23 คน ซึ่งหากยังมีพื้นที่ไหนพบข้อบกพร่องอีก ก็ต้องมีการดำเนินการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เพื่อตอบสังคมให้ได้

พล.ต.อ.วิสนุเผยอีกว่า ได้ให้นโยบายแก่จเรตำรวจ นับตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่งเมื่อ 1 ต.ค. 2563 ไว้ว่า จเรตำรวจจะต้องปรับแนวการตรวจราชการ เป็นการตรวจแบบกัลยาณมิตร ดูทั้งที่ยอดเยี่ยม และยอดแย่ คือ ไม่ได้จ้องลงไปจับผิด แต่ลงไปติดตามประเมินผล หากพบว่าไม่ดี ก็แนะนำ ให้โอกาสปรับปรุง แก้ไข พัฒนา และติดตามผล แต่ถ้าให้โอกาสแล้ว ยังแก้ไม่ได้ก็ต้องมีผลกับการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ถ้าทำดีก็ต้องชมเชย ยกให้เป็นต้นแบบแก่หน่วยอื่น โดยเฉพาะการบริการประชาชนในสถานีตำรวจ ซึ่งเป็นจุดแตกหักสำคัญของงานตำรวจ

โครงการ Jaray Complaint Management System (JCoMS) หรือโครงการระบบการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนของสำนักงานจเรตำรวจ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ พล.ต.อ.วิสนุ ผลักดันในปี 2564 นี้ โดยเป็นระบบที่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากตำรวจ หรือมีเบาะแสการกระทำผิด หรือเรื่องเดือดร้อนอื่นๆ สามารถร้องทุกข์ได้ ผ่านคิวอาร์โค้ดทางช่องทางสื่อสารออนไลน์ ต่างๆ หรือ www.jaray.police.go.th

ซึ่งจะมีการรายงานให้ผู้แจ้งทราบว่า จนท.ของสถานีตำรวจ หรือจนท.จเรตำรวจ คนใดเป็นเจ้าของเรื่อง เพื่อสะดวกต่อการติดตามผล จะมีระบบประมวลผลการรับแจ้ง เพื่อแสดงบนเมนู Dashboard ให้เห็นว่า พื้นที่ใด หน่วยใด มีเรื่องร้องเรียนประเภทใด เรื่องใด มากน้อยเท่าใด เป็นเครื่องสะท้อนภาพงานตำรวจ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ช่วงกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ระบบตรวจสอบที่แข็งแรงย่อมสะท้อนองค์กรที่แข็งแกร่ง

พล.ต.อ.วิสนุยอมรับว่า งานของจเรตำรวจทุกอย่างถูกเดิมพันด้วยความเชื่อถือศรัทธาที่สังคมมีต่อองค์กรตำรวจ หากจเรตำรวจไม่สามารถเป็นที่พึ่งพา ให้ความเป็นธรรมได้ องค์กรอื่น หน่วยงานอื่น ก็จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบแทน เมื่อนั้นความศรัทธาจากสังคมก็หมดไป

ดังนั้นเมื่อสังคมตั้งคำถาม ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา หากพบว่ามีมูลก็ต้องนำไปสู่การลงโทษคนผิด ไม่ว่าจะตำแหน่งใด ยศใด การรักษาบทบาทตรงนี้จึงเป็นการรักษาองค์กรตำรวจ ให้ยืนอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี เหมือนที่พล.ต.อ.สุวัฒน์ เคยกล่าวว่า

“หากองค์กรไม่ยกย่องคนดี องค์กรก็ย่อมไม่เจริญเติบโต แต่หากไม่ลงโทษคนผิด ก็เท่ากับทำร้ายองค์กร” พล.ต.อ.วิสนุกล่าวทิ้งท้าย

และนี่คืองานจเรตำรวจในยุคของบิ๊กหิน พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ

อดิศร จิตตเสวี

เรื่อง/ภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน