คอลัมน์ สดจากสนามข่าว

เตือนภัย!โลกออนไลน์ – คนเจนแซด คือคนที่เกิดหลัง พ.ศ.2540 เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกรอบด้าน เรียนรู้รูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมแบบดิจิทัล เกิดมาในยุคเทคโนโลยีที่ทันสมัย สำหรับคนยุคนี้ทุกอย่างหาได้ในโลกอินเตอร์เน็ต

สื่อที่จะเข้าถึงคนยุคนี้ได้จึงมีแต่สื่อโซเชี่ยลเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ได้จัดทำคลิปเตือนภัยมาแล้วครั้งหนึ่ง ตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้จัดทำคลิปการป้องกันภัยไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือทางโซเชี่ยลมีเดีย

“บิ๊กเด่น” ยังมีแนวคิดจัดทำคลิปเตือนภัยประชาชนที่แฝงมาในรูปแบบอื่นอีก จึงให้พล.ต.ต.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย รองผบช.น./หัวหน้าส่วนปฏิบัติการข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ ศปอส.ตร. พ.ต.อ.ชัยรัตน์ วรุณโณอาจารย์ (สบ 5) กลุ่มงานอาจารย์ บช.ศ./เจ้าหน้าที่ชุดบังคับบัญชาฝ่ายรับแจ้ง ศปอส.ตร. พ.ต.ท.พิบูลสุขญ์ รติเวโรจน์กุล รองผกก.ป.สภ.สามง่าม จว.พิจิตร/เจ้าหน้าที่ชุดธุรการฝ่ายรับแจ้ง ศปอส.ตร. พร้อมทีมงาน

จัดทำคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางยูทูบช่อง PCTPOLICE ขึ้นมาใหม่รวมของเดิมเป็น 8 คลิป ประกอบด้วย “ลงทุนกับเรา ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น กำไรงาม”, “ใครอยากเป็นเศรษฐี ฉันนะสิ ฉันนะสิ! คาถาพารวยกับ My Mate Nate”, “ติ๊ก บิ๊ก บราเธอร์”, “ลงทุนหลักร้อย เตรียมรับเป็นล้าน จะมีอะไรง่ายกว่านี้ ชีวิตดี๊ดี”, “จะเป็นลูกจ้างทำไม มาทำงานลงทุนกับผมแล้วจะรู้จัก PASSIVE INCOME”, “อีหวังว่ะ OTP!!” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้ความรู้ ความสำคัญของรหัส OTP ให้เห็นถึงความสำคัญของรหัส OTP ว่าไม่สามารถให้ผู้อื่นได้

ส่วนคลิปที่ทำขึ้นมาให้นี้ก็คือ “ภัยออนไลน์” คือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอา OTP โดยนำเสนอในรูปแบบของการโทรศัพท์มาของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แสดงความยินดีที่โชคดี ได้รับเงินรางวัลจำนวนมาก โดยต้องมีการยืนยันรหัส OTP ที่ทางแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่งไปเพื่อทำการยืนยันตัวตน โดยเมื่อเหยื่อหลงเชื่อ แจ้งรหัส OTP ที่ส่งมากลับไป เหยื่อก็จะสูญเสียเงินที่ฝากบัญชีกับทางธนาคารไป

กับคลิป “3 กระบวนยุทธ์ สกัด หยุด โจรออนไลน์ วิธีป้องกันเว็บปลอม เฟซปลอม ไลน์ปลอม บนโลกออนไลน์” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้ความรู้ในการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลทางออนไลน์ ดังนี้

กระบวนยุทธ์ที่ 1 การสังเกตเว็บไซต์ปลอม หากเป็นเว็บไซต์จริงลิงก์ http จะต้องมีตัว S ต่อท้าย หรือมีรูปแม่กุญแจไว้ข้างหน้าเสมอ แต่ถ้าหากเจอเว็บที่ไม่น่าไว้ใจ ให้ลองไปค้นหาผ่านทาง Google จะได้เจอเว็บไซต์ที่เป็นของแท้แน่นอน

กระบวนยุทธ์ที่ 2 การสังเกตแอพพลิเคชั่นปลอม หากเป็นแอพพลิเคชั่นจริงต้องมีการการันตีจาก Google Play หรือ App Store ให้สังเกตชื่อผู้พัฒนาจากแหล่งที่มา ต้องมีความสอดคล้องกับแอพพลิเคชั่น หากเจอแอพพลิเคชั่นที่น่าสงสัย ไม่น่าไว้ใจ อย่าทำการติดตั้ง

กระบวนยุทธ์ที่ 3 การสังเกตแอ็กเคานต์ปลอมของเฟซบุ๊กและไลน์ โดยให้สังเกตเครื่องหมายรับรองต่อท้าย หากเป็นเฟซบุ๊กนั้นต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้า ส่วนไลน์นั้นจะเป็นลูกโลกสีเขียว พร้อมทั้งให้หลีกเลี่ยงการใช้ไวไฟสาธารณะ เพื่อป้องกันการพลาดโดนดักจับบัญชี หากเผลอทำข้อมูลหลุดให้รีบเปลี่ยนรหัส หรือแจ้งอายัดทันที

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์เผยว่า ที่ผ่านมาศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือศูนย์ PCT ได้มีการรับแจ้งเหตุในช่วงระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 62 ถึง 17 ก.พ. 64 โทรศัพท์มาแจ้งที่หมายเลข 08-1866-3000 จำนวน 233 ครั้ง มาปรึกษาทางศูนย์ ซึ่งทางเราก็จะมีผู้แนะนำ และโทรศัพท์มาแจ้งที่สายด่วน 1599 จำนวน 51 ครั้ง ขณะที่ผู้เสียหายเข้ามาแจ้งด้วยตนเองที่ศูนย์ PCT มีจำนวน 288 ครั้ง

“หวังว่าคลิปทั้งหมดที่จัดทำขึ้นมาจะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชน ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

อดิศร จิตตเสวี

เรื่อง/ภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน