คอลัมน์ สดจากสนามข่าว

บี๊บๆ เสียงข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือ “บอล กาสิโน สล็อต สมัครฟรีไม่มีขั้นต่ำ ไม่ผ่านเอเยนต์ bit.ly/…” ข้อความแบบนี้อาจฟังเป็นเรื่องปกติในยุคปัจจุบันที่ปรากฏมีข้อความจากบุคคลที่เราไม่รู้จัก ส่งเข้ามาที่มือถือของเราเพื่อโฆษณา หรือชักชวนให้ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งนอกจากชวนเล่นพนันแล้ว อาจมีชักชวนกู้เงิน เช่น “ยื่นกู้ 200,000 บาท จ่ายเพียง 88 บาทต่อวัน http:/lin…”

คุณอาจจะลบข้อความไปด้วยความรำคาญ หรือไม่สนใจ แต่จะเป็นอย่างไรถ้ามีคนในครอบครัว ลูกหลาน พี่ น้อง หรือเพื่อนคนรู้จัก ที่อ่านข้อความดังกล่าวแล้วหลงเชื่อ ผลลัพธ์อาจแตกต่าง และร้ายแรงเยี่ยงไร

เครือข่ายสังคมออนไลน์เต็มไปด้วยกลุ่มบุคคลวัยต่างๆ มากมาย จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2563 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA พบว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ต เฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 23 นาที และยังพบอีกว่าคน Gen Z (อายุน้อยกว่า 20 ปี) มีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 8 นาที นั่นหมายความว่าช่วงอายุนี้มีโอกาส ได้รับพิษภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ ได้ง่ายยิ่งขึ้น

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (Police Cyber Taskforce : PCT) หรือ “ศปอส.ตร.” โดยมี พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร. ซึ่งการดำเนินงานของตำรวจ PCT ปรากฏมีผลการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจำนวนมาก โดยมีทีมปราบปรามสำคัญได้แก่ พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ จตร พล.ต.ต. พันธนะ นุชนารถ, ผบก.สส.สตม. พล.ต.ต.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผบก.สส.ภ.8 และ พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รอง ผบช.ภ.6

พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ ในฐานะ ผอ.ศูนย์ ได้เปิดเผยว่า ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ทำให้ประชาชนต้องปรับตัวจนเกิดพฤติกรรมรูปแบบที่เรียกว่า New Normal จึงส่งผลให้ธุรกิจ และการทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด นั่นหมายความว่า อาชญากรรมก็จะยิ่งมีการพัฒนาให้เกิดความหลากหลายและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ไตรรงค์ รอง ผบช.ภ.6/หน.ชุดเทคนิคและสืบสวน ชุดที่ 4 ศปอส.ตร.ศึกษาแนวทางการพัฒนาความรู้ของข้าราชการตำรวจภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัด “โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแบบออนไลน์และ ผสมผสาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบสวนสอบสวนคดีทางเทคโนโลยี สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.)” โดยมี พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร.อดีตเลขา ปปง.เป็นผู้เห็นชอบโครงการ

เนื้อหาการฝึกอบรมได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, การจัดเก็บพยานหลักฐานดิจิทัล, การใช้เครื่องมือตรวจสอบประวัติการใช้งาน, พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) กับการสืบสวนสอบสวน, อินเตอร์เน็ต ระบบเครือข่าย และ AI, การเข้าถึงข้อมูลอินเตอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ, การรักษาความปลอดภัยส่วนบุคคลบนระบบคอมพิวเตอร์, การวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ ตลอดจนการตรวจสอบธุรกรรมของสกุลเงินดิจิทัล มีคณาจารย์ของ มจธ.ด้วยการนำของ อาจารย์ ดร.อรกัญญา เยาหะรี ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายนวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้สอนใช้การฝึกอบรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการแบบผสมผสาน (Hybrid) มีคณะวิทยากรบรรยายผ่าน Virtual Platform ระยะเวลาฝึกอบรมระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน-19 พฤศจิกายน เรียนครั้งละ 3 ชั่วโมง/สัปดาห์ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีลักษณะเป็นโครงการนำร่อง กลุ่มเป้าหมายจึงจำกัดเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำชุดเทคนิคและสืบสวนที่ 4 ศปอศ.ตร.เท่านั้น

พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์กล่าวต่อว่า ซึ่งผลการปฏิบัติของชุดดังกล่าวมีผลการจับกุมมากกว่า 20 คดี ผู้ต้องหากว่า 239 คน และมีมูลค่ายึดทรัพย์สินกว่าพันล้านบาท และเนื่องจากการฝึกอบรมอยู่ภายใต้แนวคิด “I hear and I forget. I see and I remember. I do and I understand” ซึ่งหมายความถึง หากเพียงได้ยินคุณจะลืม แต่ถ้าได้เห็นคุณจะจำ และเมื่อได้ทำคุณจะเข้าใจ ดังนั้น ในห้วงระหว่างเรียนหากมีการจับกุม ก็จะได้นำความรู้มาใช้ในการปฏิบัติงานและนำปัญหาของขัดข้องมาพูดคุยในชั้นเรียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทดลองปฏิบัติจริงไปในตัว

ไม่ใช่แค่ไล่ให้ทัน แต่ตร.ต้องล้ำหน้าไปเท่านั้นถึงจะจัดการ กับอาชญากรไซเบอร์ได้อยู่หมัด

อดิศร จิตตเสวี
เรื่อง/ภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน