คอลัมน์ สดจากสนามข่าว

โดย… ชยพล ปัญญาวิศิษฏ์กุล – เรื่อง/ภาพ

คำสารภาพโจรสาวนะยะ วิ่งราวทองจ่ายไฟแนนซ์ เหตุค้ำประกันรถให้ญาติ

“ไปค้ำประกันรถให้กับญาติ แล้วถูกไฟแนนซ์ตามทวง เพราะขาดผ่อนค่างวด ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ด้วยความคิดชั่ววูบเพราะเครียดจากการถูกตามทวง”

คำสารภาพของนายเชษฐา ปทุมพร อายุ 25 ปี สาวประเภทสองที่ก้มหน้าให้การตำรวจ หลังถูกจับคดีวิ่งราวทองคำ

คำสารภาพโจรสาวนะยะ

นายเชษฐา ปทุมพร ผู้ก่อเหตุ

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 29 ก.ย.2564 พ.ต.ต.ยม พรหมศาสตร์ สว.สอบสวน สภ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง รับแจ้งเกิดเหตุคนร้ายวิ่งราวสร้อยข้อมือทองคำ 2 เส้น น้ำหนักรวม 2 บาท จากห้างทองสมสุวรรณ 2 ในตลาดหนองบอน จึงกำลังรุดไปตรวจสอบ พร้อมด้วยพ.ต.อ.สราวุธ นุชนารถ ผกก.เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและเจ้าหน้าที่สายตรวจ

ที่เกิดเหตุเป็นอาคารพาณิชย์อยู่ในตลาดหนองบอน ภายในร้านมีการติดลูกกรงเหล็กป้องกันอย่างแน่นหนา เจ้าของร้านให้การว่า คนร้ายเป็นสาวประเภทสอง ผมยาวประบ่า สวมแมสก์ ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีชมพู นุ่งกางเกงยีนส์ขายาว มาเพียงลำพัง

คำสารภาพโจรสาวนะยะ

วงจรปิดนาทีก่อเหตุ

ลักษณะใจเย็นมากพูดคุยเป็นปกติทำทีมาขอดูสร้อยข้อมือ น้ำหนัก 1 บาท จึงนำถาดสร้อยข้อมือลวดลายต่างๆ มาให้เลือกดู ก่อนที่จะหยิบเอาไป 2 เส้น เป็นสร้อยข้อมือ น้ำหนัก 1 บาท รวม 2 เส้น แล้ววิ่งออกไปขี่รถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่หน้าร้านหนีไปทันที

เมื่อตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดภายในร้านที่เกิดเหตุ พบว่าบันทึกพฤติกรรมและรูปพรรณคนร้ายทุกอิริยาบถ มีช่วงหนึ่งคนร้ายดึงแมสก์ลงใต้คาง พูดคุยกับเจ้าของร้านทำให้เห็นใบหน้าชัดเจน

ส่วนรถที่คนร้ายใช้เป็นพาหนะคือฮอนด้า สกู๊ปปี้ไอ สีเขียว ไม่ทราบทะเบียน ขี่หลบหนีไปบนถนนสายหนองบอน-ห้วยโป่ง มุ่งหน้าไปต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.ระยอง จึงได้ประสาน สภ.ห้วยโป่ง และสภ.บ้านฉาง ที่อยู่ข้างเคียงให้ติดตามสกัดคนร้าย

เพียงไม่นานหลังตรวจสอบเปรียบเทียบภาพคนร้ายจากทะเบียนประวัติอาชญากรรม และการแกะรอยกล้องวงจรปิดตามเส้นทางที่ใช้หลบหนี ก็ทราบว่าคือนายเชษฐาทำงานอยู่บริษัทแห่งหนึ่ง ใน จ.ระยอง พักอยู่ที่ห้องเช่าไม่มีเลขที่ ซอย 13 อ.นิคมพัฒนา จึงนำกำลังเดินทางไปตรวจสอบทันที

คำสารภาพโจรสาวนะยะ

นาทีจนมุม

หลังเจ้าหน้าที่เคาะประตูห้องเรียกไม่นาน นายเชษฐาก็ยอมเปิดประตูออกมาด้วยใบหน้าที่ซีดเป็นไก่ต้ม รับสารภาพหมดเปลือกโดยไม่ต้องเค้นสอบปากคำอะไร

นายเชษฐารับสารภาพว่า ลงมือก่อเหตุโดยลำพังคนเดียว สาเหตุที่ต้องลงมือทำ เพราะไปค้ำประกันรถให้กับญาติ แล้วถูกไฟแนนซ์ตามทวง เพราะขาดผ่อนค่างวด จึงไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร

ด้วยความคิดชั่ววูบเพราะเครียดจากการถูกตามทวง ตัดสินใจเข้าไปทำทีเป็นเลือกซื้อสร้อยทองในห้างทองที่เกิดเหตุ ก่อนฉวยจังหวะหยิบทองวิ่งราวหนี ก่อนนำทองไปขายที่ห้างทองอีกแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้าแพชชั่นระยอง (แหลมทอง) ได้เงินมาจำนวน 50,000 บาท นำไจ่ายค่างวดให้ไฟแนนซ์จนหมด พร้อมขอรับผิดยอมรับผลกรรมที่ก่อขึ้น

เจ้าหน้าที่จึงคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีข้อหาวิ่งราวทรัพย์ ก่อนนำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพที่ห้างทองจุดเกิดเหตุ ในวันที่ 30 ก.ย.

คำสารภาพโจรสาวนะยะ

เห็นหน้าชัดเจน

ส่วนห้างทองที่รับซื้อไม่มีความผิดเพราะไม่มีเจตนาในการรับซื้อของโจร เพียงไปอายัดสร้อยข้อมือของกลางทั้งสองเส้นที่ผู้ต้องหานำไปขายเป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดี เพื่อส่งฟ้องศาลต่อไป

อีกหนึ่งอุทาหรณ์ของผู้คิดจะค้ำประกันให้ใคร อาจทำให้ตัวเองกลายเป็นหนี้แทนคนอื่น

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนอาจลืมเลือน หรือพนักงานทวงหนี้ของสถาบันการเงินอาจละเลยไม่กล่าวถึงคือกฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่ หรือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557

ที่ผู้ค้ำประกันจะได้รับการคุ้มครองสิทธิและความเป็นธรรมมากขึ้น

จากก่อนหน้านี้ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในภาระหนี้สินแทนลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินต้น ดอกเบี้ยที่เกิดจากการผิดนัด

ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบโดยที่ผู้ค้ำประกันไม่รู้เลยว่าลูกหนี้ไม่ได้จ่ายเงิน

พอรู้ตัวอีกทีก็พบว่าหนี้สินนั้นเพิ่มขึ้นมากมายก่ายกองกว่าตอนแรกเยอะเลย หรือกรณีสัญญาที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ร่วม ผลทำให้เจ้าหนี้จะเรียกเงินจากฝ่ายไหนก่อนก็ได้

กฎหมายค้ำประกันฉบับดังกล่าวถูกประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.2558 มีรายละเอียดมากถึง 20 หน้า แต่สำนักกฎหมายและคดี กรุงเทพมหานคร สรุปใจความสำคัญๆ ออกมาพอสังเขป ดังนี้

การค้ำประกันหนี้ต้องกำหนดรายละเอียดของหนี้และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน รวมทั้งจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้เฉพาะหนี้ตามสัญญานั้น ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในวงเงินไม่เกินเท่าไร

คำสารภาพโจรสาวนะยะ

ตำรวจตรวจที่เกิดเหตุ

ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะ เจ้าหนี้จะต้องไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน กระทั่งลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้วค่อยเรียกร้องกับผู้ค้ำประกัน

ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันเป็นภาระแก่ผู้ค้ำประกันเกินสมควร ให้ข้อตกลงนั้นมีผลเป็นโมฆะ

เจ้าหนี้ต้องแจ้งผู้ค้ำประกันเมื่อลูกหนี้ผิดนัดภายใน 60 วัน เพื่อที่ผู้ค้ำฯ จะชำระหนี้ เพื่อไม่เกิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัด หากไม่แจ้งผู้ค้ำฯไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น

สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/077/14.PDF

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน