อดิศร จิตตเสวี

ชาญพงษ์ บุญอุทิศ

เรื่อง/ภาพ

ในบรรดาหญิงสาวทั่วทั้งโลก สาวไทย จัดว่าอยู่แถวหน้าของความมีชื่อเสียงเรื่องความอ่อนช้อยงดงาม ดูแลปรนนิบัติสามีได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นที่ชื่นชมของชาวต่างชาติ ยิ่งในยุคสมัยดิจิตอล ที่การพูดคุยทางออนไลน์กลายเป็นสื่อช่วยสานสัมพันธ์รักจนสุกงอม ชาวต่างชาติหลายคนบินมาจัดงานวิวาห์กับสาวไทย ทั้งที่เพิ่งเคยพบกันครั้งแรกแต่ก็ใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุข

แต่เป็นสัจธรรมของทุกอย่าง ที่เมื่อมีด้านสว่างไสวสวยงาม ก็ย่อมมีด้านมืดที่น่ากลัวซุกซ่อนเอาไว้

ก่อกำเนิดเป็นแก๊งอาชญากรรมที่ชื่อ “แก๊งโรแมนซ์สแกม” หลอกลวงรักออนไลน์สาวไทย โดยมีพฤติกรรมสร้างโปรไฟล์เป็นชาวตะวันตกผิวขาว พูดคุยให้ผู้เสียหายหลงรักและเชื่อใจ จากนั้นออกอุบายหลอกให้โอนเงิน อ้างจะส่งของมีค่ามาใช้ชีวิตบั้นปลายในไทย เหยื่อสาวบางรายสูญเงินครึ่งล้าน

จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ในฐานะที่ต้องคอยดูแลชาวต่างชาติไม่ให้มาก่อเหตุกับคนไทย

วันที่ 1 ก.พ. ที่ สน.ลาดพร้าว พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. พร้อมด้วยพ.ต.อ.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบก.สปพ. พ.ต.อ.อาชยน ไกรทอง รอง ผบก.ทท.1 พ.ต.อ.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล รอง ผบก.น.4 พ.ต.อ.ภาสกร รัตนปนัดดา ผกก.สน.ลาดพร้าว

ก็ร่วมกันแถลงจับกุมแก๊งหลอกลวงรักออนไลน์ หรือ “โรแมนซ์ สแกม” จับกุม นายคิงส์ลี่ ชูควูดัม อายุ 35 ปี ชาวไนจีเรีย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 192/2561 ลงวันที่ 30 ม.ค.2561 ซึ่งเป็นหัวหน้าแก๊งโรแมนซ์สแกม พร้อมของกลางคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง บัตรเอทีเอ็ม 5 ใบ สมุดบัญชีธนาคาร 1 เล่ม สมุดบันทึก 1 เล่ม โดยจับกุมได้ที่ห้องพักย่านพระราม 9

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากตำรวจท่องเที่ยวจับกุม นายชินเวดู ชิอาโวกิ อายุ 53 ปี สัญชาติไนจีเรีย บริเวณหน้า ตู้ฝากเงินศูนย์การค้าแห่งหนึ่งย่านลาดกระบัง พร้อมของกลางบัตรเอทีเอ็ม 3 ใบ ก่อนนำส่ง สน.ลาดกระบัง ดำเนินคดีข้อหา “ใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดย มิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”

จากนั้นตำรวจสืบสวนขยายผลจนทราบว่า นายชีวาดูเป็นเครือข่ายโรแมนซ์สแกม ใช้วิธีการสร้างโปรไฟล์เป็นชาวตะวันตกผิวขาว พูดคุยให้ผู้เสียหายหลงรักและเชื่อใจ จากนั้นจะออกอุบายหลอกให้โอนเงินให้คนร้าย โดยอ้างจะส่งสิ่งของเป็นของมีค่า เพื่อมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศไทย แต่เกิดปัญหาติดขัดเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ จึงขอยืมเงินจ่ายก่อนจากนั้นจะคืนให้ แต่สุดท้ายก็เชิดหนีเข้า กลีบเมฆไป

สำหรับแก๊งของนายชีวาดู มีหญิงผู้เสียหายเข้าแจ้งความที่ สน.ลาดพร้าว ว่าถูกหลอกลวงให้โอนเงินไป 469,800 บาท ตำรวจจึงสืบสวนจนทราบว่ามีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติร่วมมือกัน จึงขอศาลอาญาออกหมายจับแก๊งโรแมนซ์สแกม ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น”

โดยแก๊งนี้มีสมาชิกทั้งหมด 4 คนประกอบด้วย 1.นายชินเวดู ชิอาโวกิ ทำหน้าที่พูดคุยผ่านสื่อออนไลน์กับผู้เสียหายและหลอกให้โอนเงิน 2.น.ส.โสรญา ประสวนศรี อายุ 34 ปี ทำหน้าที่โอนเงินที่ได้จากการหลอกลวง ผู้เสียหาย 3.นายคิงส์ลี่ ชูควูดัม เป็นหัวหน้าแก๊งมีหน้าที่แบ่งงานให้เครือข่าย และรวบรวมเงินที่ได้จากผู้เสียหาย

และ 4.นางลักษิกา โอใบเบ็กบูนาม อายุ 31 ปี ชาวไทย ทำหน้าที่โอนเงินที่ได้จากการหลอกลวงผู้เสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จับกุม น.ส.โสรญา นางลักษิกา และอายัดตัวชินเวดูจากเรือนจำมีนบุรีไปก่อนหน้านี้แล้ว

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่นกับนายคิงส์ลี่ ก่อนนำตัวส่ง สน.ลาดพร้าว ดำเนินคดีต่อไป

ขณะที่เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 ม.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษตร. พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบช.ทท. พ.ต.ท.อาริศ คูประสิทธิ์รัตน์ รองผกก. บก.สปพ. นายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 เป็นผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) พร้อมด้วยผู้แทนธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และผู้แทนธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ร่วมกันส่งมอบเงินของผู้เสียหายบางส่วนที่สามารถยับยั้งการถอนจากมิจฉาชีพได้ ร่วมกันคืนเงินจากการถูกหลอกลวงของ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) คืนเงินให้กับ ผู้เสียหายจำนวน 16 ราย รวมเป็นเงินจำนวน 3,291,887 บาท

สำหรับสถิติเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ปปง. มีผู้แจ้งผ่านสายด่วน ปปง. 1710 ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2560 จนถึงปัจจุบัน (1 ก.พ.61) มีจำนวน 210 ราย เหตุเกิดแล้วรีบแจ้ง 88 ราย เหตุเกิดแล้วแจ้งภายหลัง 122 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 81,517,259.53 บาท สามารถยับยั้งและช่วยเหลือได้จำนวน 33 ราย มูลค่ารวม 15,189,532.08 บาท

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า จากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 7-8 กลุ่ม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุม บางส่วนก็หนีไปต่างประเทศ ทำให้ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 2-3 กลุ่มเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นประเทศเดียวและประเทศแรกที่สามารถอายัดและคืนเงินให้กับ ผู้เสียหายได้จำนวนมาก

ส่วนกรณีที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ช่องทางนำเงินไปลงทุนโดยโอนเข้าระบบสกุลเงินดิจิตอลหรือบิตคอยน์นั้น ตำรวจได้เสนอไปยังรัฐบาลให้พิจารณาเพิ่มกฎหมายในการควบคุมสกุลเงินดิจิตอลแล้ว

ฉะนั้นเหยื่อที่รู้ตัวว่าถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง ให้รีบโทร.แจ้งเจ้าหน้าที่ ที่สายด่วน 1155 และ 1710 โดยเร็ว เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการอายัดเงินได้ทัน ยิ่งแจ้งเร็วเท่าไหร่ก็จะทำให้ได้เงินคืนเต็มจำนวนเร็วเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน