เกษม ชนาธินาถ

เรื่อง/ภาพ

การทำสงครามกับยาเสพติด จะต้องทำควบคู่กันทั้งที่ต้นทางคือการจับกุมปราบปราม ตามแนวพื้นที่ชายแดน การ ตัดเส้นทางลำเลียงสำคัญ และปลายทาง อันได้แก่การป้องกันยาเสพติดในระดับชุมชน โดยเฉพาะในระดับครอบครัว การที่ เจ้าหน้าที่จะเข้าถึงใจชาวบ้าน เพื่อช่วยกันสร้างชุมชนเข้มแข็ง ให้เป็นภูมิคุ้มกันลูกหลานให้ห่างไกลจากยาเสพติด ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ ความไว้วางใจกัน ระหว่างตำรวจกับชาวบ้าน

ที่สำคัญต้องให้ชาวบ้านมองเห็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นดั่งลูกหลานเป็นคนในครอบครัว ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่คอยจ้องจับผิด

ด้วยเหตุผลข้างต้น พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบช.ภ.3 จึงต้องการนำหลักการแนวคิดประชารัฐของรัฐบาล แนวทางการมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม และหลักการ Community Policing ที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มอบนโยบายให้ไว้มาปรับใช้กับองค์กรตำรวจ พร้อมหาวิธีการที่จะปฏิบัติให้สัมฤทธิผล

พลันที่ พล.ต.ต.บุญจันทร์ นวลสาย รอง ผบช.ภ.3 นำแนวคิดเรื่อง “โครงการปักกลด” ที่ได้รับไอเดียมาจาก พล.ต.ต.อำพล บัวรับพร รอง ผบช.ภ.2 มาเสนอ จึงเป็นอะไรที่ประจวบเหมาะตรงใจพอดิบพอดี พล.ต.ท. ดำรงศักดิ์สั่งการให้เดินหน้าเต็มตัว พร้อมผลักดันเต็มที่ โดยประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายก อบจ. อบต.ทุกพื้นที่ทั่วภูธรภาค 3 จนได้รับการสนับสนุนทั้ง งบประมาณและความร่วมมือทุกๆ ด้าน

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์เผยความหมายของโครงการว่า หมายถึงอยู่ช่วยเหลือให้ชุมชนเข้มแข็งจนกว่าปัญหายาเสพติดลดลง หรือหมดไปแล้วส่งมอบให้ชุมชนดูแลกันเอง ก่อนขยายไปชุมชนอื่นๆ จนครบชุมชนที่มีปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติด

ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ต้องลงพื้นที่ไปดูโครงการ เพื่อประเมินผลทั้งระดับสถานี ความพึงพอใจของชุมชน ครอบครัว การติดยาของลูกหลานหมดไปหรือลดลงหรือไม่ หมู่บ้านที่ประเมินผ่าน แต่ลูกหลานยังติดยากันอยู่ถือว่าไม่ผ่าน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องร่วมกับชาวบ้าน ทำกันจริงจัง ลงพื้นที่แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบให้ยั่งยืน เป็นชุมชนเข้มแข็งปลอดยาเสพติด สร้างความอุ่นใจให้ชาวบ้านในพื้นที่

“โครงการปักกลด” เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน คนในชุมชน แก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ปฏิบัติการ เชิงรุก มุ่งหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยเหลือการทำงานให้บรรลุเป้าหมายพัฒนาการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด เสริมสร้างและป้องกัน ทั้งประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มเด็กและเยาวชนเสี่ยง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ตระหนักถึงพิษภัยยาเสพติด และมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพ

กำหนดให้ตำรวจโรงพักละ 4-5 นาย ลงปฏิบัติหน้าที่ในหมู่บ้านที่เกิดการแพร่ระบาดของยาเสพติด รวม 8 จังหวัด 236 สถานี ทั่วพื้นที่บช.ภ.3 โดยได้รับอนุมัติงบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นเบี้ยเลี้ยงวันละ 100 บาทต่อ 1 นาย ที่ละประมาณ 15,000 บาท/ต่อ เดือน ลงทำงานร่วมกับฝ่ายปกครอง ทหาร สาธารณสุขในพื้นที่ ชุดปฏิบัติการจะปักกลดปฏิบัติหน้าที่ กินนอนในหมู่บ้าน และชุมชนตลอด 24 ชั่วโมง ไม่น้อยกว่า 30 วัน

โดยพักอาศัยอยู่ที่วัดหรือศาลาประชาคมหมู่บ้าน สร้างความคุ้นเคย สนิทสนมและช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน ทำให้ประชาชนไว้วางใจให้ข้อมูลแจ้งเบาะแสยาเสพติดในพื้นที่ หากพบปัญหาต้องลงไปแก้ไข เป็นพี่เลี้ยง ค้นหาผู้ติดยาเสพติดและส่งเข้าศูนย์บำบัดฟื้นฟู รวมทั้งหาข้อมูลผู้ค้าและปราบปรามจับกุมขบวนการ โดยรายงานให้หัวหน้าสถานีจัดส่งเจ้าหน้าที่สนับสนุนภารกิจ ดำเนินการคู่ขนานกับผู้นำชุมชน เพื่อให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

พล.ต.ต.บุญจันทร์ เผยความสำเร็จของโครงการ ภายหลังลงพื้นที่ปักกลดร่วมกินนอนทั้งเดินเคาะประตูบ้านชาวบ้าน ทุกหลังว่า ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี ซึ่งชาวบ้านได้ให้ข้อมูลว่าพอมีตำรวจมาปักกลด ที่เห็นได้ชัดคือเด็กแว้นในพื้นที่หายไป พวกจับกลุ่มกินเหล้าตอนกลางคืนก็หายไป มียายคนหนึ่งที่ยโสธร พาหลานชายมานอนอยู่กับตำรวจทุกคืน บอกว่าก่อนหน้าหลานขี่จยย.ออกจากบ้านทุกคืน พอมีตำรวจมายายก็ได้หลานชายกลับมา ทุกวันนี้นอนหลับสบาย เป็นต้น

ขณะที่ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงโครงการประชารัฐร่วมใจต้านภัยยาเสพติด (โครงการปักกลด) จ.นครราชสีมา ว่า ทางตำรวจภูธรภาค 3 โดย พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบช.ภ.3 มีนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยให้ลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ จึงได้อนุมัติโครงการประชารัฐร่วมใจ ต้านภัยยาเสพติด ตำรวจภูธรภาค 3 (ปักกลด) และให้ตำรวจภูธรจังหวัดในสังกัดจัดทำโครงการดังกล่าวพร้อมกันทุกพื้นที่ใน 8 จังหวัด 236 สถานี รวม 236 ชุมชน/หมู่บ้าน โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา ดำเนินการพร้อมกันทั้ง 32 อำเภอ

ทั้งนี้ ให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และขอการสนับสนุนงบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการตามโครงการดังกล่าว โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการที่จะลดการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อแสวงหาความร่วมมือ และเปิดโอกาสให้ประชาชน ชุมชน ภาครัฐ เอกชน ตลอดจนองค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข่าวสาร

อีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่บช.ภ.3 เริ่มแล้วได้ผลจริง จึงควรสนับสนุน ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน