แฟ้มคดี

ส่งสัญญาณถอยอย่างชัดเจน สำหรับท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ที่มีต่อกรณีบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

เมื่อเสียงคัดค้านจากประชาชนจำนวนมาก ทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เอง หรือกระทั่งภาคประชาสังคมต่างๆ กระหึ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พร้อมทั้งการให้เหตุผลว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ต้นน้ำ อยู่ในสภาพป่าสมบูรณ์

หากปล่อยให้มีการเข้าไปใช้พื้นที่ย่อมไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีการรุกล้ำธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น

ไม่นับว่ารูปแบบการก่อสร้างจะหรูหราโอ่โถง จนเกินคำจำกัดความของคำว่าบ้านพักข้าราชการไปมากก็ตาม

โดยใช้งบประมาณร่วมพันล้านบาท

ทำให้แม้สำนักงานศาลยุติธรรมจะแถลงยืนยันว่า ขั้นตอนดำเนินการทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมาย

และยืนยันว่าคนย่อมสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้

แต่ก็ไม่สามารถทัดทานกระแสที่คัดค้าน จนที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม มีมติส่งเรื่องให้ นายกฯ ตัดสินใจ

เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจว่าไม่สามารถใช้ได้แล้ว

ขั้นตอนต่อไปก็คือจะทำอย่างไรกับพื้นที่ดังกล่าว

บิ๊กตู่สั่งถอยบ้านบนดอย

หลังจากต้องเผชิญกระแสคัดค้านอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ก็เปิดเผยทางออกหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ว่า ตรวจสอบข้อมูลพบว่าพื้นที่ส่วนแรกจัดตั้งสำนักงานศาลยุติธรรม

ส่วนที่สองก่อสร้างสถานที่พักที่มีปัญหาอยู่ เนื่องจากประชาชนไม่เห็นด้วย และพื้นที่ส่วนที่สามส่วนนี้ทำอะไรไม่ได้ ถึงจะมีการขออนุญาต

โครงการนี้เกิดก่อนรัฐบาลนี้จะเข้ามา แต่รัฐบาลต้องแก้ไขให้เกิดความชัดเจน เป็นไปตากฎหมายและตามที่ประชาชนต้องการ เสียดายที่ผ่านมามีการก่อสร้างเป็นไปตามขั้นตอน ทุกอย่างมีสัญญาจะไปรื้อทั้งหมดคงลำบาก

รัฐบาลได้ให้ คสช.และกองทัพภาคที่ 3 กระทรวงมหาดไทย ไปทำความเข้าใจกลุ่มที่คัดค้านว่าจะทำอย่างไร ส่วนสำนักงานศาลยุติธรรม จากการหารือขั้นต้นคงไม่มีปัญหา แต่ในส่วนปัญหาของที่พักต้องมาดู เพราะอนุมัติงบประมาณและสร้างจนใกล้จะเสร็จแล้ว มีสัญญาระหว่างรัฐกับผู้รับเหมา มีโอกาสที่จะฟ้องร้องกันตรงนี้ ต้องไปดูจะแก้ไขอย่างไร มีหลายคนเสนอให้ทุบทิ้ง แล้วงบประมาณที่ใช้ไป ตรงนี้จะทำอย่างไร งบประมาณภาครัฐไม่ใช่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ จะต้องมีคนรับผิดชอบ

“ต้องไปดูจะนำไปใช้ในด้านอื่นได้หรือไม่ หรือให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เพราะศาลคงใช้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากประชาชนออกมาประท้วง แต่ขอให้ใจเย็น อย่ามาเดินขบวน คุยกันว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร ถ้าทุบทิ้งทำง่าย แต่ต้องมีคนรับผิดชอบกับงบประมาณตรงนี้”

ขณะที่พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.และเลขาฯ คสช. ระบุว่า แม่ทัพภาคที่ 3 พยายามแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยการจัดประชุมเสวนา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ซึ่งพบว่าผู้ที่ไม่ยอมรับสรุปประเด็นคือต้องการให้รื้อบ้านพัก 45 หลังที่อยู่ด้านบน

แต่ในส่วนที่ใช้ก่อสร้างอาคารสำนักงานศาล และอาคารที่พักอื่นๆ ประชาชนไม่ได้ติดใจ ดังนั้น คาดว่าจะได้ข้อยุติภายใน 1-2 เดือน ส่วนพื้นที่ที่ก่อสร้างเสร็จแล้วก็ต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด อาจจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ และปรับภูมิทัศน์ให้สอดรับกับพื้นที่ แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการของประชาชนในพื้นที่ คาดว่าศาลคงไม่มีปัญหา

ส่วนจะทำอะไรต่อไปคงต้องจับตา

ชาวบ้านยังจี้ให้ทุบทิ้ง

ขณะที่คณะกรรมการร่วมประกอบด้วย ตัวแทนจากจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ชลประทานเชียงใหม่ ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย, ป่าไม้ และเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ได้ประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุป

พร้อมยื่นหนังสือขออนุญาตเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจเขตแนวป่าเดิมถึง 3 ครั้ง เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ต่อไป แต่ไม่สามารถเข้าในพื้นที่ได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาต

ทำให้ต้องตัดสินใจกำหนดแนวเขตร่วมกันโดยไม่ได้สำรวจพื้นที่จริงเนื่องจากเกินเวลาที่จะสรุปรายงานให้กับแม่ทัพภาคที่ 3 ในวันที่ 19 เม.ย. เพื่อให้นายกฯ พิจารณาตัดสินใจในวันที่ 29 เม.ย.

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคประชาชนมีความเห็นว่า 1.มีความเห็นให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างที่อยู่เหนือแนวประสีแดงขึ้นไป ประกอบด้วยอาคารชุด 9 หลัง และอาคารบ้านพักอาศัย 45 หลัง โดยให้มีคณะทำงานพิจารณารื้อถอน วิธีการและการปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ตลอดจนข้อบังคับต่างๆ

ขณะที่ความเห็นร่วมกันของคณะกรรมการร่วม ได้แก่ 1.พื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อระบบนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมดอยสุเทพ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเดิมโดยเฉพาะการเปิดหน้าดินเพื่อการปลูกสร้าง มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูสภาพพื้นที่เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยรวมมากยิ่งขึ้นเป็นมาตรการเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เห็นควรนำพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มาบังคับใช้

2.ให้รัฐบาลจัดสรรพื้นที่แห่งใหม่และงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างในราชการสำนักงานศาลยุติธรรมทดแทน 3.ส่วนที่สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วให้ส่งคืนเพื่อประกาศเป็นเขตอุทยาน หรือพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

4.ให้มีการประกาศเป็นทางการต่อสาธารณะ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อเป็นสัญญาประชาคมว่าจะไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ราชพัสดุ ที่เป็นป่ารอยต่อตามแนวป้องกันระหว่างพื้นราบกับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย

โดยจะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติคลุมลงมาให้เป็นป่าผืนเดียวกันในที่สุด

ศาลยันทำถูกกฎหมาย

สำหรับข้อชี้แจงของศาล นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุที่มาของโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 2540 กระทรวงยุติธรรมมอบหมายให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ขอใช้พื้นที่ทหารด้านหลังหน่วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 เนื้อที่ประมาณ 106 ไร่ เพื่อก่อสร้างบ้านพักและที่ทำการของกระทรวงยุติธรรม

วันที่ 20 ส.ค. 2543 ศาลยุติธรรมแยกจากกระทรวงยุติธรรมตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับงานธุรการของศาลยุติธรรม เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ศาลยุติธรรม

ต่อมา มทบ.33 มีหนังสือลงวันที่ 4 มี.ค. 2547 แจ้งว่าไม่ขัดข้อง ที่จะให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ที่ดินเนื้อที่รวม 147-3-41 ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการและขอให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การดูแล บำรุงรักษาที่ราชพัสดุ

ประกอบกับก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2546 มณฑลทหารบกที่ 33 มีหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 แจ้งว่า ในการขอใช้ที่ดินของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มทบ.33 ได้ตรวจสอบแล้ว บริเวณพื้นที่ที่ขอใช้ไม่คาบเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ป.พัน.7 และหน่วยในพื้นที่แต่อย่างใด ประกอบกับสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มีความจำเป็นเร่งด่วนในการขอใช้ที่ดิน จึงเห็นควรสนับสนุน

สำนักงานศาลยุติธรรมมีหนังสือ ลงวันที่ 19 ก.ย.2548 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอใช้ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 147-3-41 ไร่

ขณะที่กรมธนารักษ์มีหนังสือ ลงวันที่ 21 ก.ค.2549 แจ้งอนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1723(บางส่วน) เนื้อที่ 147-3-30 ไร่

จากนั้นจังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือลงวันที่ 14 พ.ย.2549 จัดส่งหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุให้สำนักงานศาลยุติธรรม

ยืนยันว่าเป็นการอนุญาตโดยถูกต้องตามกฎหมาย

3 โครงการ 955 ล้าน

จากนั้นจึงดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง จนได้ผู้รับจ้างและได้ลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างดังกล่าวในที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1723 (บางส่วน) กับบริษัท พี.เอ็น.เอส.ไซน์ จำกัด ผู้รับจ้าง โดยมีบริษัท เอ็นจิเนียริ่งดีไซน์ คอนซัลแตนส์ จำกัด เป็นผู้คุมงาน วงเงินรวม 3 โครงการ จำนวน 955,064,056.28 บาท

ประกอบด้วย 1.ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตามสัญญาเลขที่ 87/2557 ลงวันที่ 8 ก.ย. 2557 และบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจ้าง (ครั้งที่ 1-14) เป็นเงิน 290,495,056.28 บาท กำหนดเสร็จภายในวันที่ 28 ส.ค. 2559 ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 242 วัน สัญญาสิ้นสุดวันที่ 27 เม.ย.2560

ผู้รับจ้างได้มีหนังสือส่งมอบงานเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงรับหนังสือเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2560 โครงการแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์และได้เข้าใช้งานแล้ว

2.ก่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษา 38 หน่วย อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ 16 หน่วย บ้านพักผู้อำนวยการ 1 หน่วย และอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการศาลยุติธรรม 36 หน่วย พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตามสัญญาเลขที่ 31/2557 ลงวันที่ 25 ก.พ. 2557 และบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจ้าง (ครั้งที่ 1-12) เป็นเงิน 321,670,000 บาท กำหนดเสร็จวันที่ 4 ส.ค.2558

ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 1,048 วัน สัญญาสิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างผู้รับจ้างก่อสร้างตามสัญญา ตรวจรับและเบิกจ่ายเงินแล้ว 82 งวดงาน เป็นเงิน 244,962,886 บาท ยังไม่ได้ส่งมอบ 16 งวดงาน เป็นเงิน 76,707,114 บาท

3.ก่อสร้างบ้านพัก รวม 9 หน่วย และอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ 64 หน่วย พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ศาลยุติธรรมในจังหวัดเชียงใหม่ตามสัญญาเลขที่ 55/2556 ลงวันที่ 19 ก.ค. 2556 และบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจ้าง (ครั้งที่ 1-16) เป็นเงิน 342,900,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 9 ก.ค. 2558 ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาออกไปอีก 1,066 วัน สัญญาสิ้นสุดวันที่ 9 มิ.ย. 2561

แต่สุดท้ายหากนายกฯ พิจารณาอย่างไร ก็พร้อมปฏิบัติตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน