วงล้อเศรษฐกิจ

รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของจีนไตรมาส 1/2561 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังคงรักษาโมเมนตัมการขยายตัวดีต่อเนื่อง แม้ว่าภาคต่างประเทศยังคงมีความไม่แน่นอนในระดับสูง

ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1/2561 ขยายตัว 6.8% YoY โดยแรงขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจมาจากการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคครัวเรือน สะท้อนผ่านการเติบโตของจีดีพีภาคบริการ (Tertiary Industry) ที่ขยายตัวสูงกว่า 7.5% YoY สูงกว่าการเติบโตของจีดีพีโดยรวม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่เร่งขึ้นในไตรมาส 1/2561 ที่ 7.5% YoY YTD ในไตรมาส 1/2561 เทียบกับ 7.2% ในปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาคการส่งออกจะยังคงขยายตัวได้ดีอยู่ โดยการส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกของจีนปี 2561 ขยายตัวกว่า 17% YoY เร่งขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่ขยายตัว 10% YoY แต่ก็เริ่มส่งสัญญาณอ่อนตัวในเดือนมี.ค. 2561

ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีคงทยอยชะลอตัว และยังคงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนทั้งปี 2561 ที่ 6.6% สอดคล้องกับการส่งออกที่น่าจะอ่อนแรงลงเช่นกัน

ทั้งนี้ แม้ผลกระทบจากการเก็บภาษีภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 กดดันการส่งออกจีนในปี 2561 ในระดับที่จำกัด เนื่องจากจีนได้มีการเร่งส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ ก่อนที่มาตรการขึ้นภาษีจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายไตรมาส 2/2561

ทว่า ด้วยแรงส่งที่อ่อนลงประกอบกับฐานที่สูงในปีก่อน ทำให้ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกของจีนในปี 2561 จะเติบโตชะลอลงอยู่ในช่วง 4.5-5.5% จากที่ขยายตัว 7.9% ในปี 2560 ภายใต้เงื่อนไขว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะไม่บานปลายและสามารถหาข้อสรุปได้ภายในครึ่งหลังของปี 2561

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปี ยังคงเป็นความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากทางการสหรัฐมีแนวคิดพิจารณาขยายมูลค่าสินค้านำเข้าจากจีนที่จะเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมอีก 1 แสนล้านดอลลาร์ เป็นการตอบโต้รัฐบาลจีนที่ประกาศแผนเรียกเก็บภาษีศุลกากร 25% กับสินค้าส่งออกของสหรัฐ อาจจะเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมที่อาจกดดันเศรษฐกิจจีนมากขึ้น
 

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน