วงล้อเศรษฐกิจ : คาดเฟดคงดอกเบี้ย

คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมรอบห้าของปีนี้ ระหว่างวันที่ 31 ก.ค. – 1 ส.ค.

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะมีนัยสำคัญต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ในช่วงที่เหลือของปีนี้คงหนีไม่พ้น ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ และประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งอาจจะกลายเป็นความเสี่ยง ที่ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงได้

อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง ยังคงเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีก 1-2 ครั้งในช่วงที่เหลือ ของปีนี้ได้

มองไปข้างหน้า เฟดอาจจะเผชิญกับปัจจัยท้าทายมากขึ้น ในการดำเนินนโยบายการเงินโดยเฉพาะในปี 2562 ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดน่าจะปรับขึ้นเข้าใกล้กับระดับดุลยภาพ โดยเฉพาะกรณีที่คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าของตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ อาจจะส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ มีความเสี่ยงที่จะเป็นแบบลาดลง (Inverted yield curve)

สำหรับผลต่อประเทศไทย ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยังคงอยู่ในช่วงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินไทยยังคงเผชิญกับการไหลออกของเงินทุน และกดดันให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวอ่อนค่า

ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย คงจะเผชิญกับความผันผวนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการประชุมเฟดในรอบก.ย. 2561 ซึ่งเฟดอาจจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง

ทั้งนี้ แม้ว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่งยังคงช่วยให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ได้อีกระยะ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากข้อพิพาททางการค้า แต่คงต้องยอมรับว่า ท้ายที่สุดแล้ว ต้นทุนทางการเงินคงมีทิศทางที่จะทยอยปรับขึ้นตามทิศทางตลาดการเงินโลก

ดังนั้น ผู้ประกอบการและภาคประชาชน ควรมีการ เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน