แฟ้มคดี

 

ยังคงไม่จบลงง่ายๆ สำหรับการติดตามจับกุมตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมาดำเนินคดี

ทั้งข้อหาเช็กสั่งจ่ายของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่อยู่ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

รวมทั้งคดีรุกป่าสงวน ผิดพ.ร.บ.ป่าไม้ในพื้นที่จ.เลย และจ.นครราชสีมา

ที่เจ้าหน้าที่นำโดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. เตรียมกำลังไว้ดำเนินการถึง 7 กองร้อย

พร้อมขออนุมัติหมายค้นเข้าไปตรวจสอบภายในวัด

แต่แล้วก็ยังไม่สามารถเข้าไปภายในวัด หรือได้ตัวผู้ต้องหา

จนนายกฯ ต้องออกมาสั่งห้ามพูดเรื่องคดี เพราะกลัวสังคมจะมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐไร้น้ำยา

แต่กระบวนการกดดันก็ยังดำเนินต่อไป

 

ตร.-ดีเอสไอลุยกดดันธรรมกาย

p0160181259p3

เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับการติดตามจับกุมพระเทพญาณ มหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) หรือ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดยพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. เผยว่า เตรียมกำลังสนับสนุนตามที่ดีเอสไอร้องขอไว้ 6-7 กองร้อย ทั้งทีมแพทย์ พยาบาล อีโอดี เจ้าหน้าที่สื่อสาร สุนัขตำรวจ และเฮลิคอปเตอร์ เตรียมเข้าปฏิบัติหน้าที่ทันที

ขณะที่ดีเอสไอ โดยพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2559 เพื่อขอให้สั่งปิดสถานีโทรทัศน์วัดพระธรรมกาย (DMC) เป็นการชั่วคราว ระหว่างที่กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณากำหนดแผนเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหา

โดยให้เหตุผลว่า หากปล่อยปละให้สถานีโทรทัศน์วัดพระธรรมกายเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าข่ายเป็นการชักชวน ยุยง เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินต่อไปอาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่จนเกิดเหตุรุนแรงและเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐได้

ส่งผลให้กสทช.เรียกประชุมด่วนในวันที่ 7 ธ.ค. จากนั้นนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง ยืนยันว่า คณะกรรมการประชุมและมีมติสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ ช่อง DMC ตาม ม.64 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ ตามประกาศ คสช. ฉบับ 97 โดยเห็นว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม เป็นเวลา 15 วัน

พร้อมกันนั้นดีเอสไอยื่นคำร้องขอศาลออกหมายค้นเเล้ว 4 ฉบับ ซึ่งศาลอนุญาตออกหมายค้นแล้ว ระบุวันตรวจค้นตั้งเเต่วันที่ 13-16 ธ.ค. เป็นเวลา 4 วัน

แต่สุดท้ายก็ต้องสะดุด เพราะหมายค้นกำหนดเวลา ไม่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้ 24 ชั่วโมง

จึงต้องขออนุมัติศาลอีกครั้ง

 

ฟันอีก 98 คดี-บี้ให้มอบตัว

พร้อมกันนั้นก็เดินหน้าดำเนินคดีทุกคดีที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดมีคดีที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายถึง 98 คดี แยกออกเป็น วันที่ 14 ธ.ค. 43 คดี ประกอบด้วย

1.ความผิดฐานบุกรุก 10 คดี (สร้างสะพานข้ามคลอง)

2.ความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่ง 19 คดี (เดินรถนอกเขตรับอนุญาต)

3.ความผิดฐานกีดขวางการจราจร 3 คดี (เสาเข็มกีดขวางทางสัญจร)

4.ความผิดฐานเสียทรัพย์ 2 คดี (โรยตะปูเรือใบ)

5.หมิ่นประมาทดร.วิฑูรย์ ชลายนนาวิน 1 คดี

6.ความผิดพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เนื่องจากก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต 7 คดี

7.พ.ร.บ.น้ำบาดาล 1 คดี

วันที่ 15 ธันวาคม 2559 อีก 55 คดี ประกอบด้วย 1.ก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเทศบาลท่าโขลงร้องทุกข์ 48 คดี 2.บุกรุกที่สาธารณะ เดินสายไฟฟ้าข้ามถนนและคลองแอน 7 คดี

นอกจากนี้พล.ต.อ.ศรีวราห์ ยังเข้าพบนายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อประสานขอตัดไฟภายในวัดพระธรรมกาย เนื่องจากทำผิดกฎหมายดังกล่าว ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่อยู่ในกระบวนการตัดน้ำประปาด้วย

p0160181259p2

ขณะที่พนักงานสอบสวนกองปราบปรามก็ขออนุมัติหมายจับนายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกวัดในข้อหาปลุกปั่น

ทั้งหมดก็เพื่อดำเนินการกดดันให้พระธัมมชโยติดต่อเข้ามอบตัวหรือพบพนักงานสอบสวน เพราะรู้แน่ว่าไม่สามารถใช้กำลังเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปในวัด ที่ระดมศิษยานุศิษย์นั่งสวดมนต์อยู่ภายใน

แต่จะได้ผลมากน้อยเท่าใดต้องติดตาม

 

บิ๊กตู่สั่งทุกฝ่ายหยุดจ้อ

อย่างไรก็ตามขณะที่การกดดันของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระแสสังคมก็วิพากษ์การทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง

เพราะการให้ข่าวอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. สั่งทุกหน่วยงานว่า จากนี้ไปกรุณาพูดหรือให้ข่าวเรื่องนี้ให้น้อยที่สุด

ต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องของการดำเนินคดีตามขั้นตอนปกติทั่วไป เมื่อมีหมายศาล หมายเรียก หมายค้น หมายจับ ก็ต้องดำเนินการไปตามกติกา

ไม่จำเป็นต้องย้ำหรือสั่งการอะไรเพิ่มเติม เป็นมาตรการต่างๆ ของทางฝ่ายกฎหมาย อะไรผิดหรือถูกเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม จะใช้ความรู้สึกในการตัดสินอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งใดก็ตามที่ละเมิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ

โดยพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยสาเหตุที่นายกฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อสังคมให้น้อยลงหรือหยุดพูด เพราะเรื่องนี้เป็นความผิดเหมือนกับกรณีอื่นทั่วๆ ไป

หากให้ข่าวอธิบายรายละเอียดจะเป็นแรงกดดันมาที่รัฐบาล และดูเหมือนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไร้น้ำยา ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายในการเข้าตรวจค้นและจับกุม และขอให้สื่อนำเสนอเรื่องนี้ให้น้อยลง หากไปกระพือข่าวมากจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากขึ้น

พร้อมกับแรงกดดันที่ถาโถม ก็มีกรณีคลิปเสียงสั่งการวางแผนจัดการกับวัดพระธรรมกายว่อนเน็ต จนพล.ต.อ.ศรีวราห์ ระบุว่า ไม่ขอยืนยันว่าคลิปดังกล่าวเป็นเสียงตนหรือไม่ แต่ตามหลักกฎหมายนั้น คลิปเสียงเป็นหลักฐานที่ศาลไม่รับฟัง

ซึ่งก็สั่งการให้พล.ต.ต.สมบัติ มิลินทจินดา รรท.รองผบช.ภ.1 ตรวจสอบที่มาของคลิปดังกล่าวแล้ว

เป็นการปฏิเสธ ที่ชัดเจน

 

เปิด 3 หมายจับธัมมชโย

สำหรับคดีของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) หรือ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย นั้นถูกศาลอาญาอนุมัติหมายจับ ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 ในคดีเช็กสั่งจ่ายของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่บริจาคให้วัดพระธรรมกาย 21 ครั้ง เป็นเงิน 1.2 พันล้านบาท

โดยครั้งนั้นดีเอสไอขีดเส้นให้ต้องมามอบตัว ภายในวันที่ 26 พ.ค. 2559 แต่สุดท้ายเมื่อเจ้าหน้าที่ไปรอที่สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานที่นัดหมายมอบตัว พระธัมมชโยกลับไม่เดินทางมา โดยระบุว่ามีอาการอาพาธ

หลังจากเงียบหายไปร่วมครึ่งปี ก็กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งเมื่อ ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 ระบุว่า อัยการสั่งฟ้องคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยมีพระธัมมชโยเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359, 83

พร้อมแจ้งให้ดีเอสไอดำเนินการจับกุมมาส่งให้อัยการดำเนินการต่อไปภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันที่กระทำผิดคือ เดือนม.ค. 2552

โดยก่อนหน้านี้พระธัมมชโยยังถูกศาลจังหวัดเลยอนุมัติหมายจับเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2559 ในข้อหาร่วมกันยึดครอบครองเพื่อทำประโยชน์ อยู่อาศัยในที่ดินก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำโดยประการใด อันเป็นการทำลายป่า และเป็นการเสื่อมเสียป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต

หลังพบว่ามีการออกเอกสารน.ส.3 ก. ของสวนป่าหิมวันต์ อ.ภูเรือ จ.เลย อันเป็นเท็จ รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ เนื้อที่รวม 129 ไร่

นอกจากนี้ศาลจังหวัดสีคิ้วยังอนุมัติหมายจับพระธัมมชโย ในความผิดร่วมกันสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 และมาตรา 72 ตรี กรณีก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ เขาใหญ่

ถือเป็น 3 คดีหลักที่พระธัมมชโยต้องเผชิญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน