บทเรียน ในอดีต ประชากรไทย พลังธรรม ถึง “อนาคตใหม่”

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

“อนาคตใหม่” – ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องต่อชัยชนะที่พรรคอนาคตใหม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็เริ่มมีความห่วงใยด้วยความหวาดเกรงว่าชะตากรรมอาจจะเหมือนกับพรรคประชากรไทย พรรคพลังธรรม

เพราะว่าพรรคประชากรไทยชู นายสมัคร สุนทรเวช

เพราะว่าพรรคพลังธรรมชู พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

เมื่อพรรคอนาคตใหม่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงอาจรุ่ง และอาจร่วงไปในแบบเดียวกันกับ นายสมัคร สุนทรเวช และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

เรียกให้มีปัญหาก็คือ ลัทธิ “บูชาตัวบุคคล”

จุดเหมือนระหว่างพรรคประชากรไทย พรรคพลังธรรม นอกเหนือจากเกิดจากผู้นำโดดเด่นอย่าง นายสมัคร สุนทรเวช พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แล้ว

ก็อยู่ที่เริ่มปักธง แจ้งเกิดใน “กทม.”

กระนั้น หากมองไปยังรากฐานและความเป็นจริงเชิงเปรียบเทียบก็ต้องยอมรับว่าพลังของพรรคประชากรไทยมาจากฐานเดิมของพรรคประชาธิปัตย์

พลังของพรรคพลังธรรมมาจากประเด็นของ “คนดี” เปี่ยมด้วยธรรมะ

ขณะที่พลังของพรรคอนาคตใหม่มีรากฐาน อยู่ใน “มหาวิทยาลัย” มีความสัมพันธ์กับ “เด็ก รุ่นใหม่” ที่เติบใหญ่อยู่กับสังคม “โซเชี่ยล”

จุดต่างอย่างสำคัญที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ไม่เหมือนกับพรรคประชากรไทยหรือพรรคพลังธรรมก็คือ พรรคอนาคตใหม่มิได้มีแต่ในกทม.

ตรงกันข้าม ได้รับเลือกมาจากทั่วประเทศ

กล่าวสำหรับพรรคประชากรไทย พรรคพลังธรรม ได้รับเลือกในต่างจังหวัดน้อยมาก และที่ได้ก็เพราะบารมีที่นักการเมืองนั้นๆ สะสมมาเอง

ตรงกันข้าม ของอนาคตใหม่สะท้อนคะแนน “พรรค”

ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ พรรคอนาคตใหม่ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปีสร้างสาขาพรรคและมีกรรมการประจำจังหวัดครบถ้วนทั้ง 77 จังหวัด

ตรงนี้ต่างหากคือรากฐาน คือความแข็งแกร่ง

ในความเป็นจริง แม้พรรคอนาคตใหม่จะได้รับการหนุนเสริมจากประชาชนอย่างคึกคัก แต่ก็เสมอ เป็นเพียงบาทก้าวแรกในทางการเมือง

ทุกอย่างยังเท่ากับเป็นการ “ตั้งไข่”

เปรียบเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ก่อรูปในเดือนเมษายน 2489 เปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยที่ก่อรูปในเดือนกรกฎาคม 2541 จึงละอ่อนอย่างยิ่ง

ข้อดีก็คือ พรรคอนาคตใหม่ยังมีโอกาสในการปรับตัว แก้จุดอ่อน ปรับความบกพร่องได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน