ประเมิน ความคิด ท่าน ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อ ปัญหาน้ำท่วม

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ประเมิน ความคิด ท่าน ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อ ปัญหาน้ำท่วม – ประโยค “ต่อให้ไปเรียกไอ้คนที่อยู่เมืองนอกกลับมา ก็ทำไม่ได้” ที่หลุดจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

ถึงจะตามด้วย “ใครก็ไม่รู้เหมือนกัน” แต่คนรู้

ไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นที่รู้ว่าหมายถึงใคร หากบรรดา “บุคลากรรัฐ” ที่นั่งฟังอยู่ใน อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ก็รู้

เพราะนี่คือสิ่งที่ดำรงอยู่ภายใต้ “จิตใต้สำนึก” ของคนพูด

เป็นการนึกเปรียบเทียบตั้งแต่ร่วมรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และยิ่งนึกเปรียบเทียบเมื่อเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ขอให้ย้อนกลับไปฟังเพลงอันเคยกระหึ่มในห้วงแรกของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็จะเข้าใจในสภาพความเป็นจริงทางความคิด

ตั้งแต่ประโยค “เราจะทำตามสัญญา”

ตามมาด้วย “ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา”

และจบด้วย “แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน”

ถามก็คือ จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ทุกอย่างเป็นไปตามที่สัญญาเอาไว้ในบทเพลงหรือไม่

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชื่อมั่นว่าตนเองได้ทำตามสัญญา ทำตามคำประกาศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ทุกประการ

แต่ดูเหมือนว่า “ชาวบ้าน” จะยังไม่เชื่อ

ที่ไม่เชื่อไม่เพียงแต่ดูจากผลงานกว่า 5 ปี หากแต่ดูจากคำสรรเสริญเยินยออันมาจากคนที่เคยมีส่วนในรัฐประหาร 2549 และคนที่เคยมีส่วนในรัฐประหาร 2557 แล้ว

ก็บังเกิดความสยดสยองในหัวใจ

ภาพที่ยึดโยงระหว่างคนซึ่งปูทางให้รัฐประหาร 2549 กับคนซึ่งปูทางให้รัฐประหาร 2557 จึงยิ่งสร้างความหวั่นไหวให้กับชาวบ้าน

ความไม่เชื่อของชาวบ้านนั้นเองที่ก่อความหงุดหงิดให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนำไปสู่การ นำเอา “ไอ้คนที่อยู่เมืองนอก” มาเปรียบเทียบ

ยิ่งเปรียบเทียบก็ยิ่งเจ็บปวด

แทนที่จะมองไปข้างหน้าคิดค้นหาวิธีที่จะเอาชนะอย่างสร้างสรรค์กลับหวนนึกถึงสถานการณ์ในแบบเดือนกันยายน 2549 และสถานการณ์แบบเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นทางออก

“จะเอาผมแบบนี้ หรือเอาผมแบบก่อน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน