เมืองไทย 25 น.

ทวี มีเงิน

 

เมื่ออังคารที่แล้ว มติที่ประชุมครม. ได้อนุมัติร่างกฎหมายที่มีความสำคัญกับเกษตรกร ฉบับหนึ่ง นั่นคือ “กฎหมายเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม” หรือ “คอนแท็กฟาร์มมิ่ง” เจตนารมณ์เพื่อต้องการปฏิรูประบบที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างเกษตรกรหรือเจ้าของฟาร์ม กับ “คู่สัญญา” ที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง

รูปแบบที่ผ่านๆ มาธุรกิจขนาดใหญ่จะส่งเสริมให้เกษตรกร เข้ามาอยู่ในโครงการโดยตกลงจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรล่วงหน้าใน “ราคาประกัน”

แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรมักจะโดนเบี้ยวไม่เป็นไปตามสัญญา หรือได้ราคาไม่เป็นไปตามที่ตกลงแถมยังโดนเอาเปรียบสารพัด อย่างเช่น ไปส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ พอเกษตรกรในโครงการเริ่มจะอยู่ได้บริษัทใหญ่ที่เป็นคู่สัญญาก็ไปส่งเสริมเกษตรกรรายอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กันให้เข้ามาแข่ง จนรายเดิมต้องเลิกเพราะลงทุนไม่คุ้มต้องเป็นหนี้เป็นสิน

หรือบางทีพอสัตว์อายุครบกำหนดที่ต้องจับส่งบริษัท แต่ก็โดนบ่ายเบี่ยง จนเลยกำหนดเวลาทำให้สัตว์ที่เลี้ยงไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดก็จะถูกบริษัทกดราคารับซื้อ ที่ยกมานี้แค่น้ำจิ้ม

จึงเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลออกกฎหมายนี้แต่ “ไฮไลต์” อยู่ตรงที่จะทำอย่างไรให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายจริงๆ เกษตรกรจะต้องไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ทุกวันนี้กฎหมายคุ้มครองประชาชนหลายๆ ฉบับไม่ต่างจาก “เสือกระดาษ” เพราะคนบังคับใช้กฎหมายล้วนอยู่ใต้ร่มเงาของกลุ่มนายทุน ข้าราชการบางคนก็รับใช้บริษัทเอกชน คนพวกนี้หลังเกษียณก็ไปทำงานกับเอกชนทันที เวลามีปัญหามักเข้าข้างบริษัทใหญ่ๆ มากกว่าเกษตรกร

กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้เกษตรกรจริงๆ เห็นจะมีแค่ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ที่ใช้ “ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30” ชาวไร่อ้อยได้ 70% กับโรงงานน้ำตาล 30%

ทุกวันนี้ชาวไร่อ้อยเป็นเกษตรกรกลุ่มเดียวที่ถือว่ามีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงกว่าอาชีพเกษตรกรอื่นๆ เรียกว่าพอจะชักหน้าถึงหลังบ้าง แต่ชาวไร่อ้อย ต่างจากเกษตรกรชาวไร่ทั่วๆ ไป ตรงที่มีการรวมตัวจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นระบบและเหนียวแน่น ทำให้เกิดพลังและอำนาจต่อรองกับกลุ่มโรงงานน้ำตาลที่เป็นนายทุนได้อย่างเข้มแข็ง

หากจะให้ได้ผลจริงๆ รัฐจะต้องส่งเสริมให้ เกษตรกร ชาวไร่รวมกลุ่มกันต่อรองกับนายทุนและมีพลังกดดันข้าราชการมีความเป็นธรรม

ที่สำคัญ กฎหมายต้องไม่ใช่เสือกระดาษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน