คอลัมน์ รู้ไปโม้ด : เปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 – โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

เปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 – เคยมีการเปิดเผย จากคณะราษฎร ถึงสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่

ปณิธาน

ตอบ ปณิธาน

มีคำตอบอยู่ในบทความเรื่อง “คณะราษฎรเผยสาเหตุ ‘ปฏิวัติ 2475’ ปฐมบทจากความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ?” โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com ความตอนหนึ่งว่า

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ณ วันนั้น ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” เป็น “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” หรือระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

กลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินดังกล่าวคือ “คณะราษฎร” ทำหน้าที่ในบทบาทของ “ผู้ก่อการ” ให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จ

ในกลุ่มผู้ก่อตั้ง “คณะราษฎร” ที่กรุงปารีส ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 ท่านนั้น มี 2 ท่านที่ภายหลังได้มีโอกาสแสดงความในใจอันเกี่ยวกับ “สาเหตุ” ในการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านหนึ่งคือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้เรียบเรียงเรื่อง “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515 อีกท่านหนึ่งคือ พลโท ประยูร ภมรมนตรี

ท่านปรีดีกล่าวว่า คนไทยหัวสมัยใหม่ที่ได้รับรู้ถึงระบอบการปกครองในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า อีกทั้งตระหนักในความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเมืองไทย ได้บังเกิดจิตสำนึกที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติ ซึ่งทั้งนี้รวมถึงนักศึกษาระดับสูงจำนวนหนึ่งที่ กรุงปารีส

“วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ…เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย และดำเนินการเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ (1) รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายเช่น เอกราชทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

(2) รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก (3) บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก (4) ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (5) ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวแล้ว (6) ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”

คณะราษฎรกำหนดไว้ว่าจะต้องใช้วิธีการยึดอำนาจรัฐแบบฉับพลันทันที หรือ “coup d’ etat” เพื่อป้องกันการแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจ และหลีกเลี่ยงการสู้รบในประเทศ

ท่านปรีดี กล่าวยืนยันว่า ในเมืองไทยก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น “ปรากฏว่าชนรุ่นหนุ่มสมัยนั้น ชนิดที่ไม่เคยไปเห็นระบอบประชาธิปไตยในต่างประเทศ แต่ก็มีความตื่นตัวที่ต้องการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาฯ ทั้งนี้ก็แสดงถึงว่าผู้ที่มิได้มีความเป็นอยู่อย่างระบอบศักดินา เกิดจิตสำนึกที่เขาประสบแก่ตนเองถึงความไม่เหมาะสมของระบอบนั้น และอิทธิพลที่เขาได้รับจากสื่อมวลชนที่มีลักษณะก้าวหน้าในสมัยนั้น ที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบอบศักดินามาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

เพราะเหตุนั้น พวกข้าพเจ้าจำนวนน้อยที่กลับมาจากยุโรป จึงไม่มีความลำบากมากนักในการชวนผู้ตื่นตัวในเมืองไทยให้เข้า เป็นสมาชิกคณะราษฎร เพราะเขามีพื้นฐานแห่งความต้องการนั้นอยู่แล้ว”

ฉบับพรุ่งนี้ (24 มิ.ย. ตรงกับวันปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475) อ่านบันทึกของพลโท ประยูร ภมรมนตรี ถึงสาเหตุที่สยามต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน