คอลัมน์ วงการพระสุดสัปดาห์
โดย อริยะ เผดียงธรรม [email protected]

“พ่อแม่เป็นผู้มีบุญมีคุณ เรามีมือยกขึ้นไหว้พ่อแม่เราก่อน เรามีทรัพย์สมบัติ มีของอยู่ของกิน หยิบยื่นให้พ่อแม่เราก่อน รองลงมาก็ครูบาอาจารย์ผู้สั่งสอนวิชาความรู้ให้แก่เรา อันนี้เป็นคุณธรรมของมนุษย์ที่จะพึงยึดเป็นหลักปฏิบัติ” สารธรรมมงคลพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่า สาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ” วัดดอนยายหอม พระเกจิชื่อดังนครปฐม วัตถุมงคลที่สร้างเป็นที่นิยมและแสวงหามาตั้งแต่อดีตเรื่อยมา ค่านิยมยิ่งสูงขึ้นตามกาลเวลา ที่นับว่าโดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันอย่างดีไม่แพ้เหรียญรุ่นแรกคือ “เหรียญรุ่นสุดท้าย”

มีจุดเริ่มต้นจากการที่มูลนิธิสุขศาลานุเคราะห์จังหวัดนครปฐม ประกอบพิธีล้างป่าช้าที่วัดดอนยายหอมราวต้นปีพ.ศ.2518 จึงถือโอกาสขออนุญาตจัดสร้าง เพื่อหาทุนไว้ใช้ดำเนินงานของมูลนิธิ หลวงพ่อเงินรับทราบ โดยกำชับให้ใส่คำว่า “รุ่นสุดท้าย” ไว้ในเหรียญด้วย

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหันหน้าตรงอยู่ ตรงกลาง ใต้รูปเหมือนเขียนว่า “หลวงพ่อเงิน” ด้านหลังเหรียญตรงกลางเป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ด้านบนเขียนว่า “พระราช ธรรมาภรณ์” ด้านล่างมีคำว่า “มูลนิธิสุขศาลานุเคราะห์นครปฐม ๒๕๑๘”

มีดอกจันประกบหัวท้าย ใต้ยันต์มีคำว่า “รุ่นสุดท้าย” เป็นแถวตรง ทุกบล็อกทุกพิมพ์มีจำนวนรวม 84,000 เหรียญ โดยมี 4 ชนิด เนื้อโลหะ ประกอบด้วย เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ และเนื้อทองแดง มีสองพิมพ์ คือ พิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ จัดเป็นอีกเหรียญที่หายาก

หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต เจ้าอาวาสวัดถ้ำคูหาวารี ต.โคกขมิ้น อ.วังสะพุง จ.เลย จัดสร้าง“เจดีย์จันทสาโรนุสรณ์” ที่วัดถ้ำคูหาวารี เพื่อน้อมรำลึกถึงครูบาอาจารย์ หลวงปู่หลุย จันทสาโร แต่ยังขาดปัจจัยเป็นจำนวนมากคณะศิษย์จึงขออนุญาตจัดสร้างเหรียญพญาเต่าเรือน รุ่นแรก เพื่อนำรายได้สมทบทุนก่อสร้าง

ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงเต่า มีหู ด้านหน้าเหรียญ ที่บริเวณขา หัว และหางเต่า มีอักขระยันต์ ที่ขอบเหรียญด้านขวาเขียนว่าวัดถ้ำคูหาวารี และใต้หัวเต่าเขียนว่า พุท โธ ส่วนขอบเหรียญด้านซ้ายมีตัวอักษรเขียนว่า หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต ที่บริเวณกลางเหรียญเป็นรูปเหมือน บริเวณใต้รูปเหมือนเขียนว่า รุ่นแรก และมีตัวเลข ๘๔ เป็นอายุ

ด้านหลังเหรียญ บริเวณกลางเหรียญส่วนขา หัว และหางมีอักขระยันต์ ที่ใต้หัวพญาเต่าเขียนว่า เศรษฐี ส่วนที่บริเวณขอบเหรียญด้านขวา อ่านว่า นะโมวิมุตานัง ขอบเหรียญด้านซ้าย อ่านว่า นะโมวิมุติยา บริเวณกลางเหรียญเป็นรูปพระสังกัจจายน์ถือถุงเงิน ถุงทอง จัดสร้างเป็นหลายเนื้อด้วยกัน ติดต่อสอบถามได้ที่วัดถ้ำคูหาวารี จ.เลย

ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระเถราจารย์ชื่อดังแห่งล้านนา วัตถุมงคลสร้างขึ้นหลังจากมรณภาพ แต่ล้วนมีค่านิยม แทบทั้งสิ้น “เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ปี 2517” เป็นเหรียญที่ได้ รับความนิยมอย่างมาก จัดสร้างเป็น เนื้อทองคำ จำนวน 9 เหรียญ เนื้อเงิน 579 เหรียญ เนื้อนวโลหะ 3,559 เหรียญ และเนื้อทองแดง 5,625 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญกลม รูปไข่ ด้านหน้าเหรียญตรงกลางเป็นรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยครึ่งองค์ หันหน้าตรง ขอบเหรียญเขียนคำว่า “ครูบาเจ้าศรีวิไชยนักบุญแห่งล้านนา” ใต้รูปเหมือนเป็นตัวเลขไทย “๒๕๑๗” ด้านหลังเหรียญเป็นรูปอักขระยันต์ ใต้ยันต์เขียนคำว่า “รุ่นพิเศษ” เหรียญรุ่นนี้มี 2 บล็อก คือ พิมพ์เศียรหนามและพิมพ์เศียรโล้น ได้รับความนิยมมากกว่าพิมพ์เศียรโล้น นับเป็นเหรียญรุ่นหลังที่ได้รับความนิยม

“พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัด ภูทอก) อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ จ.บึงกาฬ) พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ศิษย์ใกล้ชิดจัดสร้างเหรียญรุ่นแรก ปี 2517 ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลมมีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อเงินและทองแดง

ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปพระอาจารย์หันข้างซ้าย ตัวอักษรนูน “วัดภูทอก บึงกาฬ หนองคาย” โค้งตามขอบด้านบน ด้านล่างตัวอักษรนูน “พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” ด้านหลังเหรียญเป็นรูปเจดีย์วัดภูทอก บนดอกบัวบานตรงกลาง 1 ดอก ดอกบัวตูมซ้ายขวาข้างละดอก และลายคลื่นน้ำ ด้านบนพิมพ์อักขระโบราณโค้งตามเหรียญ หายากในปัจจุบัน

“หลวงปู่จันทร์ สุภัทโท” หรือ “พระครูวิบูลธรรมรัต” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านโคกยาว ต.ดงดวล อ.นาดูน จ.มหาสารคาม วัตถุมงคลสร้างขึ้นมาหลายรุ่น แต่เนื่องจากไม่มีการบันทึกประวัติการสร้างไว้ จึงเข้าใจผิดว่าเหรียญใบเสมารูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ รุ่นปี 2521 จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสมีอายุ 65 ปี เป็นเหรียญรุ่นแรก

ต่อมามีการค้นพบเหรียญรูปเหมือนที่สร้างในปีพ.ศ.2517 ศิษย์ใกล้ชิดยืนยันว่าเหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญรุ่นแรกที่วัดบ้านโคกยาวได้จัดสร้างขึ้นในงานมุทิตาสักการะวาระสิริอายุครบ 60 ปี พรรษา 40 เป็นเหรียญทองแดงรมดำ สร้างประมาณ 3,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ยกขอบ 2 ชั้น มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ ครึ่งองค์ ด้านล่างรูปเหมือนเขียนว่า “หลวงพ่อจันทร์ สุภฒโท” จากด้านขวาของเหรียญโค้งขึ้นไปด้านบนวนลงไปด้านซ้ายเขียนว่า “วัดโคกยาว มหาสารคาม ๓๐ พ.ค.๑๗”

ด้านหลังเหรียญด้านขวามีตัวอักษรเขียนว่า “วัดโคกยาว” และด้านซ้ายเหรียญเขียนว่า “อ.กริ่งนาดูน” ช่างแกะบล็อกผิด ที่ถูกคือ อ.กิ่งนาดูน บริเวณกลางเหรียญมีอักขระยันต์ 4 แถว เป็นคาถาตั้งธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ป้องกันภัยรอบด้าน ด้านบนใต้ห่วงยังมียันต์มะ อะ อุ ปิดด้วยอุณาโลม 3 ตัว

ด.ต.พิทักษ์เอี้ยวศิวิกูล ผบ.หมู่ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ฝากประชาสัมพันธ์ พระกริ่งพุทธโสธร ปี 2543 รุ่นเปิดอาคาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื้อนวโลหะ พิมพ์ใหญ่ ยังมีเหลืออยู่ ยังสามารถเช่าบูชาได้ในราคา 1,500 บาท ซึ่งเป็นราคาเดิม แต่เมื่อ 20 ปีก่อนเป็นของทางราชการไม่ใช่ส่วนตัว สอบถามโทร.0-2581-6663 ID : 0869839595

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน