คอลัมน์ วงการพระสุดสัปดาห์

โดย อริยะ เผดียงธรรม [email protected]

“การทำอะไรเป็นเวลาตรงไปตรงมา เป็นการสร้างสัจบารมี ถ้าใครมีสัจจะความจริงใจ มีสัจบารมี ใกล้ต่อการตรัสรู้ ถ้าขาดสัจจะความจริงใจแล้วยังห่างพระพุทธเจ้า” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“พระวิบูลเมธาจารย์” (หลวงพ่อเก็บ) เจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี สร้างวัตถุมงคลเหรียญรูปเหมือน ในปี พ.ศ.2516 ที่ระลึกเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้า อยู่หัว ยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงเป็นประธานตัดลูกหวายนิมิต

เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อเก็บจัดสร้างเป็นเนื้อทองแดง เนื้อกะไหล่เงิน เนื้อกะไหล่ทอง และเนื้อเหรียญ 5 บาทโบราณ ซึ่งหายากมาก ด้วยเป็นการนำเหรียญ 5 บาทที่ใช้จริงสมัยนั้นมาปั๊มหลายครั้งจนบาง สังเกตด้านข้างจะเป็นสีทองและนากของเหรียญ 5 บาท ลักษณะเหมือนกับรุ่นปกติ แต่บางกว่า และมีการเชื่อมต่อห่วงด้านบน อย่างชัดเจน

ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนพระวิบูลเมธาจารย์ (หลวงพ่อเก็บ) มีข้อความว่า “พระวิบูลเมธาจารย์ วัดดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี” มีจุดสังเกตดีๆ จะมีการปั๊มคำว่า “เก็บ” ไว้ที่ไหล่รูปเหมือนด้านซ้ายล่างของ หลวงพ่อเก็บ แต่เป็นด้านขวาของเหรียญทุกเหรียญ ด้านหลังเหรียญเป็นรูปพระนเรศวรทรงช้างและองค์อนุสรณ์ดอนเจดีย์ ด้านบนเหรียญเป็นภาษาขอมเขียนว่า “นะ” เป็นอีกเหรียญที่ควรค่าแก่การเก็บสะสม

“พระกริ่ง พ.ศ.2479” สมเด็จพระอริย วงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(แพ ติสสเทโว) วัดสุทัศน์ สร้างในปี พ.ศ.2479 ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต ซึ่งได้รับพระเมตตาอนุญาตให้จัดสร้างพระกริ่งรุ่นดังกล่าว พุทธลักษณะใหญ่โตล่ำสัน พระกรรณสั้น ไม่ถึงพระอังสา พระหัตถ์ซ้ายถือวัชระ ศิลปะจีนแบบ หนองแสพิมพ์ใหญ่ ขนาดสูงประมาณ 4.1 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.4 เซนติเมตร เนื้อองค์พระจัดอยู่ในวรรณะแดง

เนื่องจากมีเงินกลมตรายันต์หลายร้อยก้อนผสมอยู่ จึงเป็นเหตุให้พระกริ่ง 2479 เมื่อสัมผัสหรือแช่น้ำไว้นาน ผิวองค์พระจะกลับดำสนิทเป็นเงางามเสมือนสีนิล ครั้นเมื่อหล่อพระกริ่ง 2479 เสร็จแล้ว ก็ได้นำพระกริ่งไปไว้ในพระตำหนักฯ เพื่อให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง จนเป็นที่พอพระทัยแล้ว จึงประทานแก่ผู้สั่งจองและในปีนั้นรับสั่งว่า “พระกริ่งคราวนี้รัศมีดีมาก ยิ่งบูชายิ่งเป็นสิริมงคล จึงเป็นพระกริ่งที่นิยมมาก หายากและสนนราคาสูงรุ่นหนึ่ง

ในปี พ.ศ.2563 วัดทุ่งนาใหม่ อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช มีสภาพชำรุดทรุดโทรมลง แต่เนื่องจากยังขาดปัจจัยในการบูรณะ ดังนั้น พ่อท่านอิ่ม ปัญญาวุโธ วัดทุ่งนาใหม่ ได้จัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นอิ่มรวยทรัพย์ ประกอบด้วย 1.เหรียญเสมาพ่อท่านอิ่ม หลังไอ้ไข่ 2.เหรียญพญาเต่าเรือน พ่อท่านอิ่ม หลังไอ้ไข่ 3.เหรียญพิมพ์ดอกจำปี หลังไอ้ไข่ 4.เหรียญพิมพ์เสมา พ่อท่านอิ่ม 5.เหรียญพิมพ์ดอกจิก หลัง ไอ้ไข่ เพื่อนำปัจจับสมทบทุนบูรณะเสนาสนะภายในวัดทุ่งนาใหม่ทั้งนี้ ไอ้ไข่ คือรูปไม้แกะสลักของเด็กชายอายุประมาณ 9-10 ขวบตั้งอยู่ในศาลาในวัดเจดีย์ ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช สอบถามที่พระใบฎีกาวิรัตน์ โทร.09-3727-4722 ใหญ่ เมืองกาญจน์ โทร. 09-8474-7081

“หลวงปู่แย้ม ฐานยุตโต” หรือ “พระครูประยุตนวการ” อดีตพระเกจิอาจารย์อาวุโสนครปฐม วัดสามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เหรียญรุ่นแรก สร้างเมื่อปี พ.ศ.2516 ที่ระลึกงานทำบุญฉลองอายุครบ 5 รอบ (60 ปี) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาส งานนี้คณะลูกศิษย์ร่วมกันจัดสร้างถวายแต่ไม่กล้าขออนุญาต จึงไปขออนุญาตหลวงพ่อเต๋ เจ้าอาวาสวัดสามง่ามแทน นับได้ว่าได้รับการปลุกเสกจากทั้งหลวงพ่อเต๋และหลวงปู่แย้ม สองพระเกจิชื่อดัง

เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่แย้ม ปี 16 ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูในตัว ยกขอบหน้า-หลัง ด้านหน้าเหรียญมีขอบเส้นลวดอีกชั้นหนึ่ง ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่แย้มห่มคลุมจีวรหันข้างไปทางขวา ด้านล่างมีอักษรไทยว่า “พระอาจารย์แย้ม ฐานยุตฺโต” ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์พุทธะสังมิ ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวของท่าน มีข้อความว่า “ทำบุญฉลองครบอายุ ๕ รอบ รองเจ้าอาวาสวัดสามง่าม นครปฐม” และมีการตอกโค้ดตัว “ย” ทุกเหรียญ เหรียญรุ่นแรกนี้สร้างเป็นเนื้อเงิน นวโลหะ และทองแดง มีจำนวนไม่เกิน 2,500 เหรียญ เป็นเหรียญยอดนิยมที่เสาะแสวงหา

“หลวงพ่อผอง ธัมมธีโร” หรือ “พระครูธีรพัชโรภาส” อดีตเจ้าอาวาสวัดพรหมยาม อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ พระเกจิสายหลวงพ่อทบ วัตถุมงคลล้วนได้รับความนิยมสูง เหรียญยันต์กลับรุ่นหนึ่ง สร้างขึ้นในวาระที่หลวงพ่อผองมีอายุครบ 7 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2551 เป็นเหรียญดีบุกจำนวน 300 เหรียญ เหรียญทองแดงรมดำ 3,000 เหรียญ เฉพาะเหรียญดีบุกทุกเหรียญจะมีเลขกำกับทุกเหรียญ

ลักษณะของเหรียญทั้ง 2 ชนิดเป็นเหรียญทรงกลมคล้ายรูปไข่ มีลายกระหนกล้อมรอบ ขนาด 2.5 เซนติเมตร มีหูห่วงเชื่อม ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางจะเป็นรูปเหมือนขนาดครึ่งองค์ ใต้รูปโค้งไปตามขอบเขียนว่า “๗ รอบ หลวงพ่อผอง” มีอักขระ 3 ตัวอยู่ด้านบนและด้านข้างซ้าย-ขวา บนศีรษะรูปเหมือน ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์ห้า หัวกลับลง ด้านบนยันต์เขียนว่า “วัดพรหมยาม อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์” ปลายยันต์หัวกลับเขียนว่า ๒๕๕๑ เป็นเหรียญหายากอีกรุ่นในขณะนี้

“หลวงพ่อจิ๋ว สุขาจาโร” หรือ“พระครูอุทัยธรรมวินิจ” อดีตเจ้าคณะตำบลโนนเหล็ก และ เจ้าอาวาสวัดเนินเหล็ก อ.เมือง จ.อุทัยธานี ในปีพ.ศ.2536 ก่อนจะมรณภาพ จัดสร้างวัตถุมงคลพระเนื้อผง รุ่นยกช่อฟ้าอุโบสถวัดเนินเหล็ก ลักษณะองค์พระเป็นรูปสามเหลี่ยม ทรงมน เนื้อผงพุทธคุณ

ด้านหน้าพระผงมีขอบรอบ ตรงกลางเป็นรูปนูนหลวงพ่อจิ๋วนั่งสมาธิเต็มองค์บนแท่นสองชั้น ด้านหลังพระผงไม่มีขอบมียันต์นูนพระเจ้าห้าพระองค์และมีอักขระขอมกำกับด้วยอุณาโลมซ้าย-ขวา ใต้ยันต์มีอักษรไทย “ครบ ๘๙ ปี หลวงพ่อจิ๋ว เนินเหล็ก” ประกอบพิธีพุทธาภิเษกวันเสาร์ ที่ 17 เม.ย.2536 ที่อุโบสถวัดเนินเหล็ก โดยพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังผู้ทรงวิทยาคุณ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน