คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี จะมีงานรำลึกประวัติศาสตร์ทางการเมือง ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ 2 ห้วงเวลาด้วยกัน

งานแรกรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การล้อม ปราบนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ยัง มืดมิด ยังไม่ถูกชำระสะสางอย่างจริงจัง

อีกเหตุการณ์คือการรำลึก 14 ตุลาคม 2516 ปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติ ศาสตร์ไทย ที่เยาวชนคนหนุ่มสาว นักเรียน นิสิตนักศึกษา ร่วมกับประชาชนจํานวนหลายแสน เรียกร้องจนได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย

เหตุการณ์แรกครบรอบ 44 ปี ส่วนเหตุการณ์หลังครบรอบ 47 ปี

กําหนดการจัดงานอย่างคร่าวๆ ของการ รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ยังคงจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยหลายภาคส่วนมีทั้งทำบุญตักบาตร การเสวนา ปาฐกถา และการฉายภาพยนตร์เหตุการณ์จริง

แกนนำนิสิตนักศึกษา ตลอดจนผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น คงจะได้กลับมาร่วมกันรำลึกความสูญเสีย ความทารุณโหดร้าย อันมาจากการสร้างความเกลียดชัง และยังไม่สามารถหาตัวผู้บงการได้

หลังจากงาน 6 ตุลาคม นับไปอีก 10 กว่าวัน ก็จะมีงานรำลึก 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งก็คงจะมีกำหนดการออกมาอีกครั้ง คาดว่าลักษณะการงานก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก

เพียงแต่เหตุการณ์แรกเป็นการรำลึก ถึงความโหดร้าย ส่วนเหตุการณ์หลังรำลึกถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ในห้วงตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมเป็นต้นไป มีการนัดชุมนุมใหญ่เรียกร้องทางการเมือง ซึ่งต่อยอดมาจากการชุมนุมตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน

การที่รัฐสภาโดยเสียงส่วนใหญ่มีมติให้ตั้ง คณะกรรมาธิการศึกษาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผู้ที่ไม่พอใจมติรัฐสภาออกมาชุมนุมกันอีกครั้ง

การชุมนุมของประชาชนเรือนแสนที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน และจำนวนเกือบหมื่นที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กันยายน น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้มีอำนาจควรตระหนัก

การฝืนขืนใจเจตจำนงประชาชนนั้นเคยมีบทเรียนมาแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน