คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

โครงการเอกที่รัฐบาลใช้ตอบคำถามเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศอยู่เสมอคือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

แนวคิดดังกล่าวเริ่มปรากฏตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ กระทั่งหลังการรัฐประหารจึงมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เมื่อปี 2558

จากนั้นมีกฎหมายพิเศษ ได้แก่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งหมายความว่า พื้นที่อีอีซีจะมีข้อยกเว้นที่จะให้ประโยชน์และอำนวยความสะดวกเหนือกว่าพื้นที่อื่นๆ ทั่วๆ ไป

เสียงวิจารณ์แรงๆ อาจเรียกว่าคล้ายมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

การผลักดันอีอีซี เป็นความหวังมากของรัฐบาลที่ตอกย้ำหลายครั้งหลายโอกาส ว่า อีอีซีคือการวางยุทธศาสตร์ของรัฐ เป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ

ที่ผ่านมารัฐบาลจัดการประชุมกับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ เพื่อให้ความมั่นใจว่าหากเข้ามาลงทุนในอีอีซีแล้วจะได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าอย่างแน่นอน

ด้วยตัวเลขประเมินว่า กิจกรรมในอีอีซีจะมีมูลค่าร้อยละ 14 ของทั้งประเทศ และเฉพาะ 8 เดือนมานี้ มีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 85,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 54 ของคำขอรับการ ส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ

ความคึกคักนี้ปรากฏผ่านรัฐบาลแล้ว ผ่านเอกชนรายใหญ่แล้ว แต่ที่ยังไม่แน่ชัด คือประชาชนในพื้นที่

อาการมุ่งมั่นของรัฐที่จะปลุกปั้นอีอีซีให้เป็นแรงขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจนั้นมีข้อห่วงกังวลตามมาด้วย

หากมีกลุ่มประชาชนทั้งคนในพื้นที่ ทั้งคนที่ห่วงใยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนที่ห่วงใยวิถีชุมชน ไปจนถึงประชาชนทั่วไป ทักท้วง ทัดทาน คัดค้านบางเรื่อง บางโครงการ รัฐบาลจะตั้งใจฟังเสียงเหล่านี้ โดยไม่มีอาการหงุดหงิดรำคาญใจ ไม่เพิกเฉย ไม่มองข้าม ไม่ตอบโต้ผู้ทักท้วงว่าถ่วงความเจริญหรือไม่

ในเมื่อรัฐมีกฎหมายพิเศษอยู่ในมือ มีนักธุรกิจรายใหญ่เป็นแรงหนุนแล้ว

กรณีนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ว่า ถ้าการเมืองดี อีอีซีจะสร้างสมดุลและให้ประโยชน์แก่ทุกคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน