คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ชุมนุม 14 ตุลา – เป็นไปได้หรือไม่ ที่การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม จะมีคนเข้าร่วมถึงล้านคนอย่างที่กลุ่มผู้จัดรณรงค์อยู่

ถ้านับแบบเดียวกับการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556-2557 ย่อมเป็นไปได้ แต่อาจเป็นที่สงสัยและไม่น่าเชื่อถือได้ในเวลาเดียวกัน

เพราะหากนับตามการคำนวณทางคณิตศาสตร์จำนวนคนต่อพื้นที่ ไม่เคยมีการชุมนุมทางการเมืองของไทยครั้งใดจะแตะถึงเลขหลักดังกล่าว

ตัวเลขผู้ชุมนุมอาจสำคัญทางจิตวิทยาว่ามี ผู้ร่วมเรียกร้องผู้เห็นด้วยกับเป้าหมายและแนวทางของผู้จัดชุมนุมมากน้อยเพียงใด แต่ก็ไม่ใช่ส่วนที่ตัดสินเหตุการณ์ได้ทั้งหมด

วิธีการและความชอบธรรมของกลุ่ม ผู้ชุมนุมต่างหากที่สำคัญกว่า

การชุมนุมที่กดดันด้วยเป้าหมายและแนวทางให้กองทัพเข้าแทรกแซงการเมืองหรือยึดอำนาจ ความชอบธรรมย่อมไม่มี

แต่ถ้าการชุมนุมมีเป้าหมายยกระดับการพัฒนาประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยกระบวนการที่เปิดให้ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วม ความชอบธรรมย่อมมีมาก

ดังที่ปรากฏตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมือง วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยจำนวนผู้ชุมนุมหลายแสนที่เรียกร้องเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

ความชอบธรรมของผู้ชุมนุม นิสิตนักศึกษา และประชาชนครั้งนั้น เอาชนะการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐได้ แม้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่

ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุผู้เสียชีวิต 77 ราย และบาดเจ็บ 857 คน

มีผู้คาดการณ์ว่าการชุมนุม 14 ตุลา 63 จะมีผู้เข้าร่วมไม่เท่าการชุมนุม 14 ตุลา 16

มีบางเสียงที่เยาะเย้ยถากถาง และมีบางเสียงให้ร้ายผู้จัดการชุมนุมด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรง

หากพิจารณาเฉพาะการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เรียกร้องให้รัฐสภาเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชน ไปจนถึงวิธีนัดหยุดงานและหยุดเรียน ถือว่ายังอยู่ในขอบเขตของการเคลื่อนไหวโดยสันติ

ส่วนจะมีประชาชนเข้าร่วมมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องต้องติดตาม รวมถึงเรียกร้องฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐให้ปฏิบัติหน้าที่คุ้มกันความปลอดภัยให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม

รัฐต้องไม่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงเสียเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน