คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ใครได้ประโยชน์ – “ขอถามหน่อยว่า การชุมนุมได้ประโยชน์กับใคร” เป็นคำถามจากนายกรัฐมนตรีที่กำลังถูกผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ลาออก
เพราะตามความเห็นของนายกฯ ยิ่งชุมนุมนานไปก็ยิ่งเสียหายมากขึ้น ยิ่งนานไปเศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนไม่ได้ ยิ่งนานไปการจราจรก็ติดขัดมากขึ้น
ทั้งคำถามและคำอธิบายนี้ ทำให้ย้อนนึกถึงสถานการณ์การชุมนุมเป่านกหวีดปลายปี 2556 ลากยาวกระทั่งถึงเหตุรัฐประหาร 22 พ.ค.2557
การชุมนุมในครั้งนั้นเชื่อมโยงมาถึงการชุมนุมขณะนี้ เพราะมีคนได้ประโยชน์ และมีคนเสียประโยชน์
ภาวะไม่สมดุลทางการเมืองจะมีมากขึ้น เมื่อคนได้ประโยชน์เป็นคนส่วนน้อย และคนเสียประโยชน์คือคนส่วนใหญ่
การชุมนุมปี 2556-2557 ได้ประโยชน์กับใคร สถานการณ์หลังรัฐประหารแสดงคำตอบให้เห็นแล้ว
อย่างน้อยคือการได้เห็นบุคคลหลายท่านมีตำแหน่งหน้าที่ มีอำนาจในการตัดสินใจ ควบคุมความเป็นไปของกฎกติกาต่างๆ ที่ยังมีผลต่อปัจจุบัน
โครงการและนโยบายด้านเศรษฐกิจ มีทั้งที่ยกเลิกและมีทั้งที่ดำเนินการต่อ
ที่โดดเด่นคือประเทศมีสัญญาซื้อเรือดำน้ำ ลำแรก 13,500 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2560 แต่จะจ่ายหมดปี 2566
ส่วนสัญญาซื้ออีก 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาทถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง จนตัด 3,925 ล้านบาทออกไปก่อนจากงบประมาณปี 2564
สําหรับการชุมนุม 2563 ได้ประโยชน์กับใครยังไม่ชัด แต่กลุ่มที่เคลื่อนไหวชัดเจนคือกลุ่มที่กำลังเสียประโยชน์
กลุ่มที่เสียประโยชน์ขณะนี้คือกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นปัญหาความไม่สมดุลทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และระบบอำนาจนิยมทางสังคม
เด็กนักเรียนเรียกร้องการปฏิรูประบบการศึกษา ส่วนนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ขอให้ปฏิรูปทางการเมืองโดยประชาชนส่วนใหญ่
แต่รัฐบาลและรัฐสภากลับยังสร้างกลไกการเจรจาที่จะดึงผู้ชุมนุมเข้าร่วมไม่ได้ อ้างว่ายังไม่รู้จะให้ใครเป็นตัวแทน ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งหมายจับหมายเรียกไปดำเนินคดีกับแกนนำ ผู้ชุมนุมอย่างไม่ขาดตอน
การกระทำแบบนี้ก็ควรถูกตั้งคำถามว่า ได้ประโยชน์กับใคร