รายงานพิเศษ
เปิดมุมมอง-ความคิด’เอกชน’ – หลังจากรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาโควิดระลอกล่าสุด จากการ ล็อกดาวน์ 10 จังหวัด ทั้งกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้ มีทั้งการแจกเงินเยียวยา 9 กลุ่มอาชีพ ลดค่าน้ำ-ไฟ และอื่นๆ
ภาคเอกชนมองมาตรการเหล่านี้อย่างไร และต้องการอะไรเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาการระบาดให้เบ็ดเสร็จมากขึ้น
เริ่มที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าหลังที่รัฐบาลใช้มาตรการ ล็อกดาวน์พื้นที่ 10 จังหวัด 14 วัน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท

สุพันธุ์ มงคลสุธี
แต่หากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงไปอยู่ในระดับหลักร้อยรายต่อวันได้ ก็เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเดินหน้าต่อไปได้ ประชาชนก็ออกมาใช้ชีวิตได้เหมือนก่อนหน้านี้
ต้องยอมรับว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 นี้มีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านๆ มา ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง การที่รัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์ ย่อมส่งผลกระทบทั้งด้านดีและไม่ดี แต่ถ้ารัฐบาลไม่ล็อกดาวน์ ผลกระทบก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน ต้องรอดูต่อไปว่าเมื่อครบ 14 วันแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงหรือไม่
ส่วนมาตรการแจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนได้ในระดับหนึ่ง แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุดในขณะนี้ คือการแยกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ออกจากสมาชิกคนในบ้าน
นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนกระจายการฉีดให้ประชาชนอย่างเพียงพอมากขึ้น และต้องให้ทั่วถึง 70% ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่แท้จริงเป็นหัวใจสำคัญ
ส่วน นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย กรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เป็นมาตรการเยียวยาที่ถูกต้องแล้ว เพียงแต่อาจมีผลไม่มากนักกับภาพเศรษฐกิจโดยรวม เพราะจำกัดแค่ 10 จังหวัด แต่คาดหวังว่าหลังจากนี้เมื่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มดีขึ้น จะได้เห็นมาตรการในลักษณะวงกว้าง ซึ่งจะช่วยเข้ามาพยุงเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4

พชรพจน์ นันทรามาศ
มาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ เพราะผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูงกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก และหากภาครัฐจะมีมาตรการใดที่ออกมาในลักษณะที่ชักชวนให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายในช่วงนี้ คงยังไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมองว่าอาจต้องรอให้สถานการณ์โควิดดีขึ้น หรือช่วงไตรมาส 4
คาดหวังว่าไตรมาส 4 ภาครัฐจะมีมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินมาตรการคนละครึ่งจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท หรือมาตรการเราชนะ ที่จะช่วยให้เกิดบรรยากาศของการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ได้รับความนิยมมากในปีที่แล้ว
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง มองว่ามาตรการเยียวยาในพื้นที่ 10 จังหวัด ถือเป็นมาตรการที่ต่อยอดขยายขอบเขตความช่วยเหลือที่กว้างขึ้น แต่ในทางกลับกันหากประเมินผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และยกระดับมาตรการคุมโควิด-19 ก็ถือว่ารุนแรงขึ้นเช่นกัน
ดังนั้นมาตรการรอบนี้อาจไม่มีผลช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ หากแต่น่าจะเข้ามาช่วยเชิงบรรยากาศการลงทุน ในภาวะที่ตลาดตอบรับเชิงลบไปแล้วมากพอสมควร รวมทั้งอาจส่งผลดีต่อบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เอกชนต้องการให้ภาครัฐดำเนินการคือการทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากที่สุด

สนั่น อังอุบลกุล
ทั้งมาตรการการพักทรัพย์ พักหนี้ ขอขยายมาตรการให้ครอบคลุมถึงเงินใหม่ที่ให้เพิ่มเพื่อนำมาหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง, หลักเกณฑ์การตีราคามูลค่าทรัพย์สิน การใช้มาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้ ร่วมกับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู การลดเงื่อนไขและข้อจำกัดของการตีโอนทรัพย์เพื่อพักทรัพย์ พักหนี้ จะทำให้กลไกตลาดทำงานและการเจรจาตกลงได้ เป็นต้น
ขอให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อให้สถาบันทางการเงินสามารถใช้ดุลพินิจในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น โดยสถาบันทางการเงินจะมีกฎเกณฑ์พื้นฐานในการให้สินเชื่อ ซึ่งจะพิจารณาจากหลายมิติ ไม่ใช่พิจารณาจากเครดิตบูโรเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเร่งเสริมคือการตรวจเชิงรุกโดย Rapid Test ที่ได้มาตรฐานในราคาที่เหมาะสมให้ประชาชน เข้าถึงได้ เพื่อแยกคนติดเชื้อออกมาจากคนไม่ติดเชื้อแบบที่หลายๆ ประเทศได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการจำกัดการเคลื่อนย้าย ของคน รวมถึงลดความแออัดของประชาชนที่ตอนนี้ไปรวมกันที่จุดตรวจต่างๆ ของ กทม.
ขณะที่ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานภาคการผลิตให้เร็วที่สุด

ชัยชาญ เจริญสุข
เนื่องจากวัคซีนเป็นเครื่องป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิดอย่างเดียว ที่สามารถช่วยภาคการส่งออกและภาคการผลิตซึ่งเป็นซัพพลายเชนของการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเดียวที่ยังเดินหน้าต่อไปได้ให้สามารถฟื้นตัวและสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศให้ยังอยู่รอดได้ต่อไป
ขณะนี้ประเทศไทยประสบปัญหาหลายด้าน เช่น แรงงานขาดแคลน เพราะแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาจากการปิดประเทศ ประกอบกับปัจจุบันจำนวนวัคซีนในประเทศไทยยังไม่สามารถจัดสรรให้เพียงพอกับจำนวนแรงงานในภาคการผลิตเท่าที่ควร ยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ด้าน นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า มาตรการภาครัฐครั้งนี้ออกมาได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมได้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่ต้องการจากรัฐบาลคือการเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและทั่วถึงให้กับบุคลากรของกลุ่มการค้าปลีกและบริการ เพื่อให้การล็อกดาวน์ครั้งนี้ ‘เจ็บแต่จบ’

ญนน์ โภคทรัพย์
หากฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายจะสามารถเปิดประเทศได้ อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ และควรครอบคลุมผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทุกกลุ่ม รวมทั้งขยายระยะเวลาในการเยียวยาให้ยาวขึ้น พร้อมเร่งดำเนินการให้เงินเยียวยาถึงมือโดยทันที
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ขอเสนอ 3 มาตรการ ดังนี้
1.จัดหาและกระจายวัคซีนที่ชัดเจน ใช้พื้นที่จุดฉีดวัคซีนที่ภาคค้าปลีกและบริการได้เตรียมไว้ทั่วประเทศ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรของกลุ่มการค้าปลีกและบริการให้ทั่วถึง
2.ช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการ ลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มเป็น 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพิ่มมาตรการพักหนี้ ช่วยลูกหนี้ในพื้นที่ล็อกดาวน์ จาก 2 เดือน เป็น 6 เดือน พร้อมหยุดคิดดอกเบี้ยเงินกู้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เป็นผู้รับสินเชื่อ Soft Loan จากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปให้กับผู้ประกอบการ SME
และ 3.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ปรับกลไกโครงการ ยิ่งใช้ยิ่งได้ ให้เหมือนกับโครงการ ‘ช้อปดีมีคืน’ และเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง
มุมมองส่วนใหญ่จักคล้ายๆ กันว่ามาตรการที่ออกมาถือว่าดี แต่จะดีที่สุดคือการเร่งฉีด ‘วัคซีน’ ให้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะตัวอย่างจากทั่วโลกแสดงให้เห็นชัดว่าเมื่อฉีดวัคซีนจำนวนมากและแพร่หลายแล้ว
การใช้ชีวิตของคนในประเทศ และเศรษฐกิจยิ่งกลับมาเป็นปกติเร็วขึ้นเท่านั้น