คอลัมน์ สดจากสนามข่าว

สุรชัย พิรักษา
เรืองรุจ วังแจ่ม
เรื่อง/ภาพ

ย้อนคดีจับยาบ้าส่งร.พ. 2 พ่อลูกเกือบเข้าซังเต ตร.สตึกสืบเจอตัวการ

“ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์หนึ่งคน” คำกล่าวของ เซอร์ วิลเลียม แบล็กสโตน นักกฎหมายชาวอังกฤษ ที่กล่าวเมื่อปี ค.ศ.1769 เป็นคำกล่าวที่อธิบายหลักคิดที่ใช้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยบริสุทธิ์และหลักการยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

เพราะหลายครั้งที่คนดีคนบริสุทธิ์แต่ไม่รู้เท่าทันเล่ห์กลคนร้าย สุดท้ายต้องตกเป็น ผู้ต้องหาโดยที่ไม่มีโอกาสได้แก้ตัว โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด

เรียกขวัญหลังพ้นผิด

ย้อนไปเมื่อ วันที่ 26 ต.ค. 2564 พ.ต.อ. วชิรวิทย์ วรรณธาณี ผกก.สภ.สตึก จ.บุรีรัมย์ รับแจ้งจากพยาบาลโรงพยาบาลสตึก ว่ามีญาติ ผู้ป่วยโควิด-19 นำวัตถุต้องสงสัยมาเยี่ยม ผู้ป่วย จึงเข้าไปตรวจสอบพร้อม พ.ต.ท. นิติพงษ์ สีทาเลิศ รอง ผกก.(สืบสวน) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

สิ่งของต้องสงสัยดังกล่าว เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยจำนวน 5 ถ้วย กาแฟ 10 ซองและยาเส้นอีก 1 ห่อ อยู่ในถุงพลาสติก ทว่าเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า ภายในซองยาเส้นมียาบ้าบรรจุกระดาษฟอยล์ จำนวน 8 เม็ด ระบุผู้รับของคือ นายอนุชา บุญจันทร์ อายุ 41 ปี ผู้ป่วยที่รักษา โควิด-19 อยู่ในโรงพยาบาล

ส่วนผู้นำสิ่งของมาฝากคือ นายอุทัย จงใจงาม อายุ 39 ปี มาพร้อมกับลูกสาวอายุ 13 ปี โดยพยาบาลได้ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน ก่อนปล่อยตัวกลับบ้าน

แจ้งข้อหาผ่านวิดีโอคอลพ.ต.ท.นิติพงษ์ เชิญตัวนายอุทัยมาสอบสวน เจ้าตัวยืนยันว่าไม่รู้เรื่องของที่นำมาฝาก เพราะพี่สาวภรรยาวานให้นำมาฝากนายอนุชาส่วนที่พาลูกสาวมาด้วย เพราะตนเขียนหนังสือไม่เป็น จึงให้ลูกเขียนชื่อรับของให้ ยืนยันไม่รู้ว่ามียาบ้าอยู่ในซองยาเส้นแต่อย่างใด ตำรวจไปตรวจค้นบ้านนายอุทัยพบเงิน 100,000 บาท และทองคำอีกจำนวนหนึ่ง จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน

ตํารวจเชิญตัว นางเสาวนีย์ บุญตา อายุ 39 ปี ผู้ที่นายอุทัยกล่าวอ้างมาสอบสวน ทันทีที่นางเสาวนีย์ถูกเรียกตัวมาสอบสวนก็เอาแต่ร้องไห้ ก่อนจะยืนยันตรงกันกับนายอุทัย ว่าไม่รู้ว่าข้างในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะมียาบ้าซุกซ่อนอยู่ เพราะนายอนุชาซึ่งเป็นสามีของน้องสาวคนกลาง โทรศัพท์มาวานให้นำถุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและกาแฟที่จะมีคนเอามาฝากไปให้ที่ ร.พ. โดยไม่ได้เอะใจว่าจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ด้วยความซื่อและเห็นว่าเป็นสามีของน้องสาวจึงรับปาก พอได้ถุงดังกล่าวมาตอนนั้นเห็นนายอุทัยอยู่ที่บ้านจึงวานให้เอาไปส่งให้กับนายอนุชาที่ร.พ.แทน

ขณะที่นายอุทัยยืนยันว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดดังกล่าว ส่วนเงิน 100,000 บาท และทองคำอีกจำนวนหนึ่ง ก็ได้มาจากการทำอาชีพสุจริตคือขายปลาในตลาดกับภรรยา กำลังจะเก็บเงินสร้างบ้านเพราะภรรยาอยากมีบ้านของตัวเอง ที่ผ่านมาไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับสิ่งผิดกฎหมายเลย ก็เสียใจที่มาเจอเหตุการณ์แบบนี้ แต่ก็เชื่อว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง

ถุงของกลาง

แม้ทั้งหมดจะยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่หากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะว่ากันตามหลักฐานที่ปรากฏ ทั้งหมดคงไม่แคล้วถูกดำเนินคดีข้อหา “ร่วมกันพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 โดยผิดกฎหมาย” ผิดถูกอย่างไรก็ให้ไปพิสูจน์กันในชั้นศาล

แต่คดีนี้ตำรวจไม่ได้ผลีผลามเร่งรัดปิดคดี เพราะต้องรู้ให้ได้แน่ชัดเสียก่อนว่าแท้จริงยาบ้าที่ตรวจพบเป็นของใคร แล้วใครเป็นคนซื้อคนขาย ซึ่งหากนายอุทัยและนางเสาวนีย์ไม่ได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดจริง ก็จะกันตัวไว้เป็นพยาน

ตัวละครสำคัญของคดีนี้หนีไม่พ้นนายอนุชา แต่ด้วยเจ้าตัวยังรักษาตัวจากโรคโควิด ตำรวจ สภ.สตึก จึงใช้วิธีวิดีโอคอลผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนายอนุชายอมรับผิดและสารภาพว่าเป็นคนแอบใช้โทรศัพท์ของภรรยา โทร.หานางเสาวนีย์ ให้ช่วยเอาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและกาแฟที่จะมีคนเอามาฝากไปให้ที่ ร.พ.เอง และขอโทษทุกคนที่ทำให้เดือดร้อน เมื่อรักษาตัวเสร็จก็พร้อมจะรับผิดตามกฎหมาย ยืนยันว่าพี่เมียกับคู่เขยบริสุทธิ์ไม่ได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องด้วย

ตร.หาความจริงถึงร.พ.

 

ชุดสืบสวนยังสืบทราบอีกว่านายอนุชาโทรศัพท์สั่งซื้อยาบ้าจากนายแป๊ก อายุ 26 ปี ชาวอำเภอสตึกจริงจำนวน 10 เม็ดในราคา 300 บาท โดยจะสั่งให้มาส่งทุกๆ 3 วัน จึงออกหมายจับนายอนุชา ฐาน “พยายามสั่งยาบ้า”

ต่อมาตำรวจขยายผลจับกุมนายแป๊ก คนที่นำยาบ้ามาฝากส่งตามที่นายอนุชาซัดทอด แต่เบื้องต้นนายแป๊กยังให้การปฏิเสธ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีพยานหลักฐานมัดตัว ทางพนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อหานายแป๊กคนส่ง “พยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมตแอมเฟตามีน) โดยผิดกฎหมาย” พร้อมคุมตัวทั้งคู่ส่งดำเนินคดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน