เหมือนกับเมื่อมีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน 2560 เมื่อมีการประกาศและบังคับใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2560

นั่นคือ การ “รุก” ในทางการเมือง

นั่นคือ ความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเข้าสู่สนาม “การเลือกตั้ง” หลังจากพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และหลังจากพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ประกาศและบังคับใช้

แต่แล้วก็เกิดสถานการณ์อันบ่งบอกว่ามิได้เป็น “การรุก”

เพราะ 1 ยังไม่มีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 57/2557 เพราะ 1 มีการประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2557 เพื่อแก้ไขปรับปรุงพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ตรงนี้คือภาพสะท้อนแห่งความไม่พร้อมในทางการเมือง

ถามว่าหากมีความพร้อม มีความมั่นใจว่าฝ่ายของตนในฐานะ “รุก” อย่างแน่นอน เหตุใดไม่ยอมยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 57/2557

นั่นก็คือ “ปลดล็อก” ให้กับพรรคการเมือง

ตรงกันข้าม นอกจากไม่ยกเลิก นอกจากไม่ยอม “ปลดล็อก” กลับมีการเคลื่อนไหวจากลูกแหล่งตีนมือของคสช.อย่างน้อย 2 คน

คน 1 คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คน 1 คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน

เป้าหมายก็คือ การเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และที่สุดก็ก่อให้เกิดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560

กระหึ่มว่าเป็นการ “รีเซ็ต” พรรคการเมือง “เก่า” จึงตามมา

ถามว่าคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 53/2557 มีเป้าหมายอย่างไร คำตอบ 1 คือ การมัดตราสังพรรคการเมืองเก่า และ คำตอบ 1 คือ การเปิดทางสะดวกให้กับพรรคการเมืองใหม่

ซึ่งก็คือ พรรคการเมืองอันเป็นลูกแหล่งตีนมือ

สะท้อนให้เห็นไม่เพียงแต่ 1 ความไม่พร้อมของพวกเดียวกัน หากแต่ 1 ยังติดอยู่ที่พรรคการเมืองเก่าเปี่ยมด้วยความพร้อมมากกว่า

จึงจำเป็นต้อง “มัดตราสัง” จำเป็นต้องเตะตัดขา

แต่การเตะสกัดพรรคการเมืองเก่าก็มีผลข้างเคียงไปยังพวกพ้องของตนและทำให้คสช.ขยายศัตรูออกไปอย่างกว้างขวาง

กระทั่งเกิดเสียงเตือน “กองหนุน” เกือบหมดแล้ว

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ที่คสช.คิดว่าพร้อมกลับไม่พร้อม ที่คสช.มาดหมายว่าจะเปิดมาตรการ “รุก” ในทางการเมืองกลับมิใช่

ที่คิดว่า “รุก” กลับเป็นการ “ตั้งรับ”

ขณะเดียวกัน ที่คิดและประเมินว่าแต่ละก้าวย่างจะคึกคักด้วยผู้สนับสนุนเห็นชอบ กลับกลายเป็นว่าแม้กระทั่งคนที่เคยเป็น “กองหนุน” ก็เริ่มระแวงแคลงใจ

เท่ากับไปเพิ่มความแข็งแกร่งกับอีกฝ่ายซึ่งเป็น “ปรปักษ์”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน