สดจากสนามข่าว

วิชัย ทาเปรียว เรื่อง/ภาพ

พืชหลายตัวมีคุณค่าทั้งทางยาและเศรษฐกิจ อาทิ กัญชง กระท่อม หรือแม้แต่กัญชา แต่ทั้งหมดยังติดอยู่ในบัญชี ยาเสพติดประเภท 5 คนทั่วไปไม่สามารถปลูกได้เอง ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่ม

ระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม สำนักงานป.ป.ส.จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงาน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่ปฏิบัติการจังหวัดเชียงใหม่ โดยนางจีระพรรณ กาญจนประดิษฐ์ เลขานุการกรม ตัวแทนสำนักงานป.ป.ส. พร้อมนายวาทิต ดำรงเลาหพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 นำสื่อมวลชนไปติดตามผลงานโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อให้คนในพื้นที่หันหลังให้ขบวนการ ค้ายาเสพติด

หนึ่งในโครงการพัฒนาที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือการพัฒนาพืชกัญชง [Hemp] หรือเฮมพ์ ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งติดตามการวิจัยการเพาะปลูกกัญชง (Hemp) ศึกษาแปลงงานวิจัยการเพาะปลูกกัญชง (Hemp) พร้อมชมผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชง ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่ม แม่บ้านเกษตรกรผลิตภัณฑ์ใยกัญชง บ้านห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ขณะที่ ดร.สริตา ปิ่นมณี นักวิจัยสำนักงานสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) หรือ สวพส. พร้อมด้วยนายปรัชญา ทวีกุล ผู้อำนวยการส่วนสำรวจพืชเสพติด สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด และนายนิธิราช จิตร์ภิรมย์ศรี นิติกรชำนาญการ กองกฎหมาย บรรยายและสรุปเรื่องประโยชน์ของกัญชง หรือเฮมพ์

ดร.สริตากล่าวว่า กัญชง (Hemp) หรือเฮมพ์ พูดติดปากคือ กัญชงเป็นพี่น้องของกัญชา ยากที่จะแยกด้วยสายตา กัญชงและกัญชาปลูกอายุ 3 เดือน กัญชงจะมีลำต้นสูง 4-5 เมตร แต่กัญชาจะมีลำต้นสูงเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น กัญชงจะมีใบเท่าฝ่ามือ แต่กัญชามีใบที่แตกกิ่งกานสาขาออกไปจำนวนมาก

ลักษณะเด่นของกัญชงจะมีเส้นใยคุณภาพสูง มีความยืดหยุ่น แข็งแรง ทนทานสูง เหนียว เบา นำมาแปรรูป ทำกระดาษ ทำปุ๋ย ทำอาหารสัตว์ได้ ทำเก้าอี้ โต๊ะรับแขก พรม กระดาษชำระ ทำเสื้อผ้า สามารถดูดซับน้ำและความชื้นได้ดี เหมาะสำหรับนำไปทำชุดทหาร และทำเสื้อเกราะกันกระสุนได้ด้วย อีกทั้งนำมาทำคอนโซลรถ

ด้านงานก่อสร้างเส้นใยกัญชงแปรรูปผสมคอนกรีตได้ ไม้อัด ทำฉนวนกันความร้อน ทำไบโอพลาสติกได้ ในเมล็ดยังมีโอเมก้า 3 และ 6 มาก ถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ส่วนสารเสพติดในกัญชา มีมากถึง 10-14% แต่กัญชงมีสารเสพติดเพียง 0.05% เท่านั้น

“สวพส.ได้วิจัยมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2550 ต่อเนื่องมาถึงวันนี้ เพื่อต้องการปรับปรุงพันธุ์ ให้มีสารเสพติดให้ต่ำลง รวมทั้งหาตลาดรองรับผลผลิตของชาวบ้านที่จะแปรรูปออกมาจำหน่าย เพราะขณะนี้ราคายังแพงอยู่ จากการวิจัยแล้วพบว่าชุดแต่งกายผ้าใย กัญชงเทียบเท่าผ้าไหม ชุดละ 1,000 บาท ก็มี เพราะขั้นตอนและต้นทุนสูงนั่นเอง ดังนั้น ต้องการให้รัฐบาลได้ทราบถึงความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการแปรรูป ยังไม่มีเครื่องมือมาช่วย เช่น เครื่องตัดต้นกัญชง เครื่องนวดใย เครื่องต่อเส้นด้าย และเครื่องอื่นๆ ซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านทำกันเอง ในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ จะมีบางรายที่รวมตัวทำเป็นธุรกิจได้แต่มีไม่มาก ซึ่งปัญหาต่างๆ เชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีทราบปัญหาดี รวมทั้งข้อกฎหมายที่ยังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2558 ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปชมแปลงปลูกและการแปรรูปกัญชงในพื้นที่ อ.พบพระ จ.ตาก บอกชาวบ้านว่าจะดำเนินการให้กัญชงปลูกได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่เรื่องก็เงียบไปมาจนถึงทุกวันนี้” ดร.สริตา ปิ่นมณี นักวิจัย สวพส.กล่าว

นายปรัชญากล่าวว่า สำหรับพื้นที่ปลูกกัญชง หรือเฮมพ์ ในปีพ.ศ.2560 จ.เชียงราย จำนวน 28 แปลง พื้นที่ 64 ไร่ จ.เชียงใหม่ 21 แปลง 35 ไร่ จ.น่าน 6 แปลง 3 ไร่ 2 งาน จ.แม่ฮ่องสอน 2 แปลง 4 ไร่ 50 ตร.ว. และ จ.ลำพูน 1 แปลง 1 ไร่ 1 งาน จ.ตาก 27 แปลง 43 ไร่ ส่วน จ.เพชรบูรณ์ 1 แปลง จำนวน 2 ไร่ เมื่อรวมแล้วได้ 86 แปลง จำนวน 152 ไร่ 3 งาน 50 ตร.ว. ในพื้นที่ 20 ตำบล 13 อำเภอ 7 จังหวัด

การทำงานของเจ้าหน้าที่ป.ป.ส.ได้ลงพื้นที่สำรวจ ลงทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูก และทำแผนที่ทางอากาศแสดงตำแหน่งชัดเจน ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องแล้ว มีการดำเนินงานคือ ประสานกับทาง สวพส. แล้วนำข้อมูลเข้าระบบ แล้วทำแผน กำหนดแผน ตรวจสอบแผน และวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบพื้นที่ นำรายงานผู้บริหารตามขั้นตอน

ภายหลังรับทราบข้อมูล คณะยังเดินทางเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ใย กัญชงของกลุ่มแม่บ้านผลิตภัณฑ์ใยกัญชง แม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ชมกระบวนการแปรรูปเส้นใยกัญชงและผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากเส้นใยกัญชงเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนด้วยการทำมือ ผลิตภัณฑ์ใยกัญชงทุกขั้นตอนจนถึงกระบวนการจำหน่าย และชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวม้ง

มีนายบรรพต รัตนดิหลกกูล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 บ้านแม่สาน้อย นำคณะให้การต้อนรับพร้อมนำชาวบ้านสาธิตทุกขั้นตอนของการแปรรูปกัญชงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ทำเชือก ทำผ้ากัญชง และหมวก และเครื่องแต่งกายต่างๆ

ปิดท้ายด้วยการเดินทางไปดูด่านสกัดกั้นยาเสพติด (ด่านแก่งปันเต๊า) อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก่อนจะเดินทางไปศึกษาดูงานที่กองทุนแม่ของแผ่นดิน บ้านหนองปลามัน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ต่อไป

ผู้เกี่ยวข้องควรรีบพิจารณาตัดสินใจ ก่อนจะถูกต่างชาติตัดหน้าเอาไปพัฒนา ต่อยอดจนคนไทยต้องพลอยเสียโอกาส ดั่งเช่นที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน