การปรากฏตัวของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในเรื่องพรรคการเมือง การปรากฏตัวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในเรื่องพรรคการเมือง

ดำเนินไปอย่างมีลักษณะ “ร่วม”

ลักษณะร่วม 1 คือ ความต้องการในการต่อท่อแห่งผลพวงทางการเมืองอันเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ผ่านคำคำหนึ่งซึ่งสำคัญ คือ การปฏิรูป

ลักษณะร่วม 1 คือ ทั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทั้ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีบทสรุปอย่างเดียวกันว่า บุคคลที่จะทำหน้าที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากมองจากรากฐานที่การเคลื่อนไหวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผ่านขบวนการกปปส.ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2557 คืออะไร

ก็มิได้เป็นเรื่องแปลก ก็มิได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ “ชัตดาวน์” กรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อม ขัดขวางการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2557

บทบาทก็เท่ากับ “ปูทาง” และสร้าง “เงื่อนไข”

สร้างเงื่อนไขให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลากปืนและรถถังออกมาก่อ “รัฐประหาร” ในเดือนพฤษภาคม 2557 โดยคสช.

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอ “เวลา” อีกไม่นาน

นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ปวารณาตัวให้กับ “คสช.” ถึงกับให้อนุสาสน์กับบรรดามวลชนของตนด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูง

รัฐบาล “คสช.” คือรัฐบาล “ของพวกเรา”

ขณะเดียวกัน นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ได้แสดงบทบาทอย่างคึกคัก เริ่มจากเป็น “ที่ปรึกษา”

และที่สุดก็เข้าไปแทนที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ไม่ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จึงเป็นเครือข่ายของ “คสช.” ประจักษ์ในบทบาทและความหมายของ “คสช.”

ล้วนหายใจร่วม “รูจมูก” เดียวกันกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทิศทางต่อไปของพรรคการเมืองที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้การสนับสนุน ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้การสนับสนุน

ไม่ว่าจะเรียก “พรรคคสช.” ไม่ว่าจะเรียก “พรรคมวลมหาประชาชน”

ในที่สุดแล้วก็ล้วนแต่เป็นพรรคเดียวกัน มีผลประโยชน์อย่างเดียวกัน และทิศทางก็คือยืนยันในการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน