คอลัมน์ ทะลุคนทะลวงข่าว

กำแพงเรือนจำสะเทือน – นับแต่เดือนก.พ.เป็นต้นมา แกนนำม็อบราษฎรตกเป็นผู้ต้องหา คดีมาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ

จากการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และปักหมุดคณะราษฎร 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เมื่อ 19-20 ก.ย.2563

จนถึงวันนี้ยังไม่มีการพิจารณาความผิด

ขณะที่มีการยื่นขอประกันตัวหลายรอบ แต่ยังไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นศาล

4 แกนนำชุดแรกที่ถูกอัยการยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล และถูกควบคุมที่เรือนจำ พิเศษกรุงเทพฯ เมื่อ 9 ก.พ. ประกอบด้วย พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, อานนท์ นำภา, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ต่อมา 8 มี.ค. อัยการยื่นฟ้องแกนนำคณะราษฎร 18 คน ความผิด ม.116, ม.215, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและอื่นๆ

โดยเฉพาะ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน เพิ่มความผิด ม.112 ด้วย รวม 11 ข้อหา

ทั้ง 3 ชวดประกัน ขณะที่คนอื่นๆ รอด

รุ้ง-ปนัสยา ถูกนำไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

ไมค์-ภาณุพงศ์ และไผ่-จตุภัทร์ คุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ก่อนย้ายมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อ 15 มี.ค. หลังจากยื่นร้องต่อศาลขอย้ายที่คุมขัง

ล่าสุด อานนท์ นำภา ซึ่งถูกขังอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขียนจดหมายด้วยลายมือสรุปว่า ในคืนวันที่ 15 มี.ค. มีเจ้าหน้าที่พยายามนำตัวผู้ต้องหากลุ่มคณะราษฎรออกจากเรือนจำกลางดึก เกรงว่าจะได้รับอันตรายแก่ชีวิต

กระทั่งนำมาสู่การร้องขอต่อศาล จนศาลมีคำสั่งให้ทางเรือนจำส่งวงจรปิดห้องควบคุมผู้ต้องขังมาให้พิสูจน์

รวมถึงทนายความของ เพนกวิน-พริษฐ์ ระบุถึงความไม่เหมาะสมในการแยก เพนกวินไปอยู่แดน 5 ซึ่งเป็นแดนนักโทษเด็ดขาด ทั้งที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังมีการย้ายแดนตลอดในช่วงของการคุมขัง

อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ต้องออกมายืนยันการย้ายกลุ่มราษฎรออกจากแดนคุมขังตอนกลางคืนก็เพื่อนำตัวมาตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากผู้ต้องขังมาจากพื้นที่เสี่ยงสูง

พร้อมแจกแจงถึงการย้ายแดนขัง เพนกวิน ครบกำหนดจำแนกตามขั้นตอน

เหตุขังรวมนักโทษเด็ดขาด เพราะข้อจำกัดพื้นที่คุก

เช่นเดียวกับ กฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

รับหน้าที่ดูแลผู้ต้องขัง ซึ่งล่าสุด เพนกวินประกาศอดข้าวประท้วงความไม่เป็นธรรม

ย้ำการนำตัวไปตรวจโควิด-19 ยามวิกาล ไม่ได้มีอะไรพิเศษหรือลึกลับอะไร เจ้าหน้าที่ที่มาเป็นผู้คุมเรือนจำ

ขณะที่กรมคุมประพฤติ ที่มี วิตถวัลย์ สุนทรขจิต เป็นอธิบดี

เพิ่งพักโทษผู้ต้องขัง สรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง, สุขุม เชิดชื่น อดีตส.ว. รวมถึงอดีตแกนนำนปช.

มีเงื่อนไขต้องติดกำไลอีเอ็ม ห้ามประกอบอาชีพทำธุรกิจหรือธุรกรรมกับบุคคลที่มีคดีความ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

โดยเฉพาะ สรยุทธ ไม่ให้เป็นพิธีกรหรือโฆษกในงานเกี่ยวกับการเมือง

อายุตม์ สินธพพันธุ์ ชื่อเล่น ซีโต้

เกิด 8 ก.ย. 2506

ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ปริญญาโท สังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ลูกหม้อกรมคุก ผ่านตำแหน่งสำคัญ ผอ.กองแผนงาน ผอ.กองการเจ้าหน้าที่

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบทัณฑวิทยา รักษาราชการผู้บัญชาการ (ผบ.) เรือนจำกลางนครปฐม

ผอ.สำนักทัณฑวิทยา, ผอ.สำนักทัณฑวิทยา รักษาราชการแทนผบ.เรือนจำ พิเศษธนบุรี, ผบ.เรือนจำพิเศษธัญบุรี

ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง, ผบ.เรือนจำ พิเศษกรุงเทพมหานคร

ขยับขึ้นรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

9 พ.ย. 2562 ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม

ต.ค. 2563 อธิบดีกรมราชทัณฑ์

กฤช กระแสร์ทิพย์

เกิด 24 ก.ค. 2504 ภูมิลำเนา จ.พระนครศรีอยุธยา

รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต นิด้า

เริ่มรับราชการตำแหน่ง นักการข่าว 3 สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย ปี 2527

ปี 2543 เป็นผบ.เรือนจำครั้งแรก ที่เรือนจำหล่มสัก

เป็นผบ. 9 เรือนจำ ในช่วงเวลา 20 ปี

ผบ.เรือนจำเพชรบูรณ์ ผอ.ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง

ผบ.เรือนจำกลางเพชรบุรี กำแพงเพชร เชียงราย

ขณะเป็นผบ.เรือนจำกลางเขาบิน จัดระเบียบเรือนจำ จัดการปัญหาพ่อค้ายาที่สั่งการจากเรือนจำ ยุติปัญหาสั่งยาจากคุกได้อย่างสิ้นเชิง

จากนั้นนั่งผอ.ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง

เป็นผบ.คุกหมายเลข 1 ของกรมราชทัณฑ์ คุมเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

ขึ้นหน้าข่าวบ่อยครั้ง เมื่อมี VIP คนมีชื่อเสียง รวมทั้งแกนนำม็อบ เข้าคุก และเป็นประเด็นร้อนในการรับมือสารพัดม็อบชุมนุมหน้าเรือนจำ

ล่าสุด 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้รับแต่งตั้งขยับขึ้นรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

เป็นบำเหน็จรางวัลก่อนเกษียณอายุราชการเดือนก.ย.นี้

วิตถวัลย์ สุนทรขจิต

ศิลปศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ลูกหม้อสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ปี 2526 เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน 3

เติบโตในสายงาน ผ่านตำแหน่ง สำคัญ ผอ.กองฝึกอบรม ผอ.สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผอ.ศูนย์ป.ป.ส. ภาคใต้

ผอ.สำนักงานป.ป.ส. ภาค 9 และภาค 3

มิ.ย. 2555 รองเลขาธิการ ป.ป.ส.

จากนั้นเป็น ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม

ต.ค. 2562 นั่งอธิบดีกรมคุมประพฤติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน