ถึงจะอย่างไรก็ต้องจบที่ศาลรธน.

คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

ถึงจะอย่างไรก็ต้องจบที่ศาลรธน. – นับเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง สำหรับพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์ ในโอกาสที่ครม.เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับหน้าที่เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562 ความว่า

“ขอถือโอกาสนี้ ให้พรให้ท่านมีกำลังใจ ความมั่นใจ และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สุขและความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน งานใดๆ ก็ต้องมีอุปสรรค งานใดๆ ก็ต้องมีปัญหา เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องแก้ปัญหา และเข้าหางาน เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามสถานการณ์ โดยแก้ไขให้ตรงเป้าตรงจุด และมีความเข้มแข็งอดทน ก็ขอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐบาลได้มีกำลังใจ มีพลังที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี ด้วยความถูกต้องต่อไป”

เป็นสิ่งที่นายกฯ และรัฐบาลต้องน้อมรับใส่เกล้าฯไว้เป็นเครื่องกำกับสติเตือนใจต่อไป

วันเดียวกัน 27 ส.ค. ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย

การที่นายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพตามที่นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ น.ศ.มหาวิทยาลัยรามคำแหงยื่นคำร้องหรือไม่

ถึงนายกฯ จะชี้แจงว่าได้ถวายสัตย์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอนสำเร็จโดยสมบูรณ์

แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 5 ระบุ “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้”

เมื่อนายกฯ กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน จึงเป็นการกระทำขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ และครม.มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

ทั้งนี้ทั้งนั้น กรณีดังกล่าวเป็นไปตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยระบุทั้งในการให้สัมภาษณ์และในหนังสือหลังม่านการเมือง

ทุกอย่างต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

โดย มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน