กระสุนยิงแล้ว ต้องไม่พลาดเป้า

คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

กระสุนยิงแล้ว ต้องไม่พลาดเป้า – ประเทศไทยมาถึงจุดที่แม้แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเองก็ยอมรับ

วิกฤตโควิด-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง มากเสียยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ในครั้งนั้นส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินและบริษัทไฟแนนซ์ที่ได้รับผลกระทบ

แต่วิกฤตโควิดผลกระทบหนักสุดตกอยู่กับประชาชนทุกระดับ

โดยเฉพาะชาวฐานรากชนชั้นลูกจ้างแรงงานไม่ว่าภาคธุรกิจห้างร้าน ร้านอาหาร โรงงาน ภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ฯลฯ คาดการณ์กันว่าภายใต้วิกฤตการณ์โควิดครั้งนี้

อาจมีคนตกงานถึง 5 ล้านคน

โดยสิ่งสำคัญสุดที่จะช่วยกู้วิกฤตครั้งนี้คือมาตรการของภาครัฐ ที่ต้องเร่งออกมาช่วยเหลือประชาชนให้ทันท่วงที รวมถึงสร้างความมั่นใจและประคับประคองภาคธุรกิจให้สามารถยืนหยัดต่อไปได้ ก่อนพังกันทั้งระบบ

ล่าสุดที่ประชุมครม.อังคารที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้าน แบ่งเป็นพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน เงินจากแบงก์ชาติอีก 9 แสนล้าน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเห็นชอบขยายระยะเวลาจ่ายเงินเยียวยาให้กลุ่มแรงงานอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

จากเดิมเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) รวม 15,000 บาท เป็นจ่ายให้เดือนละ 5,000 บาท 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.) รวม 30,000 บาท

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังจำกัดจำนวนคนที่จะได้รับเงินตรงนี้ผ่านการลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” ไว้ที่ 9 ล้านคนเช่นเดิม

ตรงนี้เองทำให้เกิดความเห็นต่างว่า ทำไมรัฐบาลไม่คงระยะเวลาจ่ายเงิน 5,000 บาทไว้ที่ 3 เดือนตามเดิม แล้วหันไปขยายจำนวนคนที่ควรได้รับความช่วยเหลือให้กว้างขวางออกไปจาก 9 ล้านเป็น 18 ล้านคน เป็นต้น

เป็นข้อสังเกตที่รัฐน่ารับไว้พิจารณา

เหมือนที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ระบุเวลานี้คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอนาคตประเทศที่จะพลาดไม่ได้ เพราะกระสุน (งบประมาณ) เรามีจำกัด

ถ้ายิงพลาดเป้า ไม่มีโอกาสแก้ตัวแล้ว

โดย…มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน