คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

ม็อบมาถึงจุดนี้ ก็เพราะรัฐบาล-ส.ว. – เหตุการณ์ประชาชนชุมนุมประท้วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ยกระดับรุนแรงต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.เป็นต้นมา

รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อตอนตี 4 ของวันที่ 15 ต.ค.

กวาดจับแกนนำหลักและผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง ต่อมาได้ทยอยออกหมายจับอีกหลายคน

จากการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จะคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนี้ไปอีกราว 1 เดือน

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านแถลงการณ์ประณาม เรียกร้องรัฐบาลยกเลิกประกาศดังกล่าวที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างกว้างขวาง

จนอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสิทธิและเสรีภาพประชาชน บางคนใช้คำว่าปฏิวัติเงียบ บางคนบอกว่าแท้จริงคือการปฏิวัติ เพียงแต่ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น

การปะทะกันด้วยกำลังครั้งแรกระหว่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุมเมื่อวันศุกร์ 16 ต.ค.

สร้างความสะเทือนใจ และเพิ่มความโกรธแค้นให้ประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในเหตุการณ์ และที่ติดตามข่าวสารการชุมนุมในสื่อต่างๆ ทบเท่าทวีคูณ

สถานการณ์เข้าใกล้จุดสูญเสียเลือดเนื้อเข้าไปทุกขณะ

คำถามว่าแล้วบ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ต้องกลับไปยังชนวนเริ่มต้นเมื่อวันที่ 24 ก.ย.

กล่าวโดยสรุปก็คือ วันนั้นหากที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตรับญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางให้มีการตั้งคณะส.ส.ร.ขึ้นมาดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทุกอย่างจะเบาลง ไม่มีทางมาถึงจุดนี้

แต่เพราะการที่ส.ส.รัฐบาลร่วมมือกับส.ว.พยายามเล่นเกมตุกติก

ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนการลงมติ ยื้อเวลาไปอีกเป็นเดือนๆ

ล่าสุดก็ยังมีข่าวส.ส.รัฐบาลที่นั่งเป็นประธานกมธ.เสนอขอยืดเวลาศึกษาเพิ่มเติมอีก 15 วัน เหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับวิกฤต การณ์ที่เกิดขึ้นนอกสภา

ตรงนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนนำมาสู่สถาน การณ์ปัจจุบัน

สถานการณ์ที่ผู้ชุมนุมยกระดับทะลุฟ้าทะลุเพดาน

ไปไกลเกินกว่าจะหันกลับมาใส่ใจเรื่องแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญเสียแล้ว

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน