คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

คำสั่งคสช.ขัดรธน. – เอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ผลการประชุมปรึกษาพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญอีกเรื่อง ในวันเดียวกับวันที่ชี้ขาดความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหมไม่สิ้นสุดลง และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้น

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยกรณีศาลแขวงดุสิตส่งคำโต้แย้งของจำเลย คือนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคสช. ลงวันที่ 24 พ.ค.2557

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค.2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี ประกาศ คสช.ฉบับที่ 29/2557 และประกาศคสช. ฉบับที่ 41/2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา มีมติเอกฉันท์ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26

เฉพาะประกาศคสช.ฉบับ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ลงวันที่ 24 พ.ค.57 มติเสียงข้างมากด้วยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคหนึ่งด้วยเช่นกัน

นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการด้านกฎหมาย ชี้ประเด็นใหญ่จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า คำสั่ง คสช. ที่เรียก นายวรเจตน์ รายงานตัว เฉพาะในส่วนโทษอาญานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะ คำสั่งแรกไม่มีการกำหนดโทษทางอาญาไว้ แต่มาเพิ่มในคำสั่งภายหลังขัดหลักพื้นฐานทางอาญา ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 29

นอกจากนี้ นายเอกชัยยังคาดว่าศาลคงชี้ลงไปด้วยว่า การเรียกบุคคลรายงานตัวเป็นการเฉพาะ (รายคน) นั้น ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ที่ระบุว่ากฎหมายต้องมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็น การเจาะจง

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา นายเอกชัยได้วิเคราะห์ด้วยว่า ศาลแขวงดุสิตจะใช้คำสั่ง คสช.ที่ 29/2557 และประกาศ คสช. 41/2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญามาพิพากษาลงโทษนายวรเจตน์ไม่ได้

เมื่อมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดเป็นบรรทัดฐานเช่นนี้แล้ว กรณีบุคคลอื่นที่โดนคสช.เล่นงานคดีจะมีผล อย่างไร?

 

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน